Home ประกันภัย การตีความในสัญญาประกันภัย ต้องตีความโดยเคร่งครัดอย่างไร

การตีความในสัญญาประกันภัย ต้องตีความโดยเคร่งครัดอย่างไร

201
0

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่าการตีความในสัญญาประกันภัย ต้องตีความโดยเคร่งครัดอย่างไร

เกี่ยวกับการตีความตามสัญญาประกันภัยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินหรือวางรากฐานในเรื่องกังกล่าวดังนี้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 487,200 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ 70,000 บาท และในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ของต้นเงิน 487,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทมิตรแท้ประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมรับประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้จากจำเลยที่ 1 โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ วงเงินค่าเสียหายกรณีรถยนต์สูญหายไม่เกิน 500,000 บาท แต่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองกรณีความเสียหายหรือสูญหาย อันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญา จำเลยที่ 1 มอบหมายให้นายวรวิทย์ ครอบครองรถยนต์ ต่อมานายวรวิทย์ยักยอกรถยนต์ไป จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินค่าใช้ราคาแทนรถยนต์ที่เช่าซื้อจำนวน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กรกฎาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินค่าใช้ราคาแทนรถยนต์เสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าใช้ราคาแทนรถยนต์ที่เช่าซื้อจำนวน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีชั้นอุทธรณ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน ภว 5506 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 556,800 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 48 งวด งวดละเดือน เดือนละ 11,600 บาท ชำระงวดแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 25 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเอาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วม วงเงินความรับผิดกรณีรถยนต์สูญหาย 500,000 บาท ระยะเวลาประกันเริ่มต้นวันที่ 20 มิถุนายน 2548 สิ้นสุดวันที่ 20 มิถุนายน 2549 โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันรถยนต์ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ถึงงวดที่ 6 ประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2548 ต่อมาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้มอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่นายวรวิทย์ เพื่อนำไปขาย แต่นายวรวิทย์ยักยอกรถยนต์ที่เช่าซื้อไป จำเลยที่ 1 จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายวรวิทย์ในความผิดฐานยักยอกและพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาหลบหนี เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูกนายวรวิทย์ยักยอกไป จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับรองสิทธิให้โจทก์เพียงผู้เดียวมีสิทธิรับเงินค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยร่วมโดยจำเลยที่ 1 ขอสละสิทธิตามสำเนาใบรับรองสิทธิและสละสิทธิกรณีรถหาย แต่จำเลยร่วมปฏิเสธการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย โจทก์ให้จำเลยทั้งสองทำใบรับรองสิทธิและสละสิทธิกรณีรถหาย ซึ่งระบุว่า โจทก์เพียงผู้เดียวมีสิทธิรับเงินค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท จากจำเลยร่วม จึงเป็นกรณีที่โจทก์เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยโดยเข้าเป็นคู่สัญญากับจำเลยร่วมในการเรียกร้องค่าเสียหายกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เพียงว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อเป็นอันระงับ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์และจำเลยร่วมต้องร่วมกับจำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยจนกว่าจำเลยร่วมจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น โดยส่วนของดอกเบี้ยไม่รวมอยู่ในวงเงินจำกัดตามสัญญาประกันภัย ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์และไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมต้องร่วมกับจำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยร่วมฎีกาว่า การตีความเงื่อนไขของสัญญาประกันภัยต้องตีความตามเจตนารมณ์ของสัญญาประกันภัยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่สัญญา หาใช่ตีความอย่างตรงไปตรงมาตามที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาอย่างเดียวไม่ มิฉะนั้นอาจทำให้บุคคลภายนอกที่ไม่สุจริตใช้ช่องว่างของกฎหมายยกขึ้นอ้างทำให้บริษัทประกันภัยหรือคู่สัญญาได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ให้นายวรวิทย์จำหน่ายรถยนต์ที่เช่าซื้อ ถือว่านายวรวิทย์ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ให้มีสิทธิครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้เช่าซื้อ เมื่อนายวรวิทย์ยักยอกรถยนต์ที่เช่าซื้อไป จึงเข้าข้อยกเว้นที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครอง เห็นว่า ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันรถยนต์ หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ระบุข้อตกลงในการคุ้มครองรถยนต์สูญหายไว้ว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหาย อันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดไว้ในข้อ 5. และข้อ 5.1 ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึง ความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่าย จึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูกนายวรวิทย์ยักยอกไป ซึ่งนายวรวิทย์เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดใช้แก่โจทก์นั้น ต้องพิจารณาจำนวนเงินเอาประกันภัยที่จำเลยร่วมตกลงไว้กรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยสูญหายคือ 500,000 บาท เป็นเกณฑ์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกในส่วนราคารถยนต์อันเป็นส่วนที่อยู่ในความรับผิดของจำเลยร่วมตามกรมธรรม์ประกันภัยเพียง 487,200 บาท และศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าราคารถยนต์ใช้แทนให้ 420,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยร่วมรับผิดเพิ่มขึ้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองในการชดใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์นั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืนและให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาของจำเลยทั้งสองแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมและนอกจากที่สั่งคืนแก่จำเลยทั้งสองให้เป็นพับ

สรุป ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

สรุป สั้นๆ

ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935
อ่านบทความเพิ่มเติม https://scllaw.in.th/