สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา กรณีไม่ทราบว่าคู่กรณีเฉี่ยวชนเป็นใคร บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองหรือไม่ เชิญอ่านได้เลยครับ

อุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณีคืออะไร?

อุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณีคือ เหตุการณ์ที่ทำให้รถเสียหายโดยอาจเกิดจากผู้ขับขี่เอง จากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ หรือถูกผู้อื่นกระทำแต่หลบหนีไป ทำให้ไม่มีผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับความเสียหายนี้ หลักๆมี 2 กรณี

1.ชนสิ่งกีดขวาง
เช่น ชนรั้วบ้าน ครูดกำแพง ชนกระถางต้นไม้

2.ถูกชนแล้วหนี
ไม่ว่าจะจอดรถอยู่เฉยๆ หรือขับรถอยู่บนท้องถนน เกิดมีคนขับรถมาชนแล้วหนีไป ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุเล็กๆ เช่น ไฟแตก มีรอยขีด สีถลอก

ประกันแบบไหนคุ้มครองบ้าง

ประกันภัยสำหรับรถยนต์มีหลายประเภท โดยมีความคุ้มครองที่แตกต่างกัน แต่สำหรับอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณีแล้ว ประกันภัยชั้น 1 เท่านั้น ที่จะได้รับความคุ้มครองจากอุบัติเหตุ ค่าซ่อมรถและค่าเสียหายอื่นร่วมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2561

ตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย ระบุถึงความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ตามเอกสารแนบท้ายแบบคุ้มครองเฉพาะภัย ซึ่งเอกสารแนบท้ายดังกล่าวคือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัยระบุข้อตกลงคุ้มครองไว้ว่า “บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาประกันภัยต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องตกแต่ง หรือส่วนที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามที่ระบุไว้ในตาราง อันมีสาเหตุมาจากการชนกับยานพาหนะทางบก ทั้งนี้ความเสียหายดังกล่าวให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้อันมีสาเหตุโดยตรงจากการชนกับยานพาหนะทางบก ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยหรือคู่กรณี และผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้….”

…..คำสั่งนายทะเบียนที่ 4/2551 กำหนดให้เป็นไปตามคู่มือตีความประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัยที่แนบท้ายคำสั่งดังกล่าวตามสำเนาคำสั่งและคู่มือตีความคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วย่อมมีผลบังคับได้ตามที่คู่มือตีความหน้าที่ 3 ได้อธิบายถึงความเสียหายต่อรถยนต์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ว่าจะคุ้มครองเฉพาะ

1. รถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากการชนกับยานพาหนะทางบก และ
2.ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้
ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อ และโดยที่คู่มือดังกล่าวได้อธิบายถึงเงื่อนไขประการที่ 2 ในหน้าที่ 4 ว่า การแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ให้หมายความรวมถึงผู้เอาประกันภัยต้องสามารถแจ้งหมายเลขทะเบียนรถยนต์คู่กรณีให้บริษัททราบ โดยไม่จำเป็นต้องให้รายละเอียดถึงผู้ขับขี่รถยนต์คู่กรณี เช่น กรณีรถยนต์คันที่เอาประกันภัยถูกรถคู่กรณีชนแล้วหลบหนี ความคุ้มครองจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงผู้ขับขี่รถยนต์คู่กรณี หรือหมายเลขทะเบียนรถยนต์คู่กรณี

ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ระบุว่าขับมาเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง

กล่าวโดยสรุป

กรณีไม่ทราบว่าคู่กรณีเฉี่ยวชนเป็นใคร บริษัทประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ***หมายเหตุ*** ข้อเท็จจริงตามฎีกานี้เป็นประกันประเภท 2+

iber.me/tanai-athip

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935