Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ การเกิดสิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การเกิดสิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

348
0

การเกิดสิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2542

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์รับจ้างสาธารณะยี่ห้อแดวู คันหมายเลขทะเบียน 8ท-8262 กรุงเทพมหานครไว้จากบริษัทประสิทธิพรธุรกิจ จำกัด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 สิ้นสุดวันที่1 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้าคันหมายเลขทะเบียน 6ย-9011 กรุงเทพมหานคร จากผู้เอาประกันภัยโดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินในนามของผู้เอาประกันภัยอันเกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2538 เวลา 23.30 นาฬิกา นายชบาได้ขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะยี่ห้อแดวู คันหมายเลขทะเบียน 8ท-8262 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนสุขุมวิท จากทางด้านแยกพระโขนงไปแยกบางนา โดยมีนางสาวดำ ผู้โดยสารนั่งไปด้วยเมื่อมาถึงบริเวณปากซอยสุขุมวิท 81 ซึ่งบริเวณปากซอยแบ่งเป็น 6 ช่องจราจร ขาไป 3 ช่องทาง และขากลับ 3 ช่องทางมีเกาะกลางถนนซึ่งบริเวณปากซอยดังกล่าวเป็นที่สำหรับกลับรถขณะเดียวกันนายคัดเค้าได้ขับรถยนต์กระบะคันที่จำเลยรับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยมาตามถนนสุขุมวิท จากทางด้านบางนาไปทางแยกพระโขนงนายคัดเค้าจะขับรถเข้าซอยสุขุมวิท 81 นายคัดเค้าขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยไม่หยุดรถให้รถในถนนสุขุมวิทผ่านไปก่อน กลับขับรถตัดเข้าซอยสุขุมวิท 81ตัดหน้ารถยนต์ที่นายชบาขับ เป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนความประมาทครั้งนี้เกิดจากนายคัดเค้าเป็นเหตุให้นางสาวดำได้รับบาดเจ็บ เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 19,907 บาทโจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้นางสาวดำ 10,000 บาทจึงได้รับช่วงสิทธิเรียกคืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 11,437 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ทั้งหมดยกเว้นแต่เพียงว่าจำเลยมิได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 6ย-9011 กรุงเทพมหานคร แต่จำเลยรับประกันภัยรถยนต์กระบะนั้นไว้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้หรือไม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม2538 จนถึงวันที่ชำระเสร็จแก่โจทก์เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคำนวณแล้วไม่ให้เกิน 1,437 บาท ตามคำขอของโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ชำระให้นางสาวดำ คืนจากจำเลยได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ ให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้ประสบภัยและตามมาตรา 31 ของกฎหมายดังกล่าว เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ให้มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือจากเจ้าของรถผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัยผู้ก่อให้เกิดความเสียหายด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้กฎหมายมิได้บัญญัติให้ไล่เบี้ยถึงบุคคลภายนอกที่เป็นผู้รับประกันภัยทั้งจะนำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการรับช่วงสิทธิมาใช้บังคับในกรณีนั้นมิได้คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำรับของคู่ความว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8ท-8262 กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทประสิทธิพรธุรกิจ จำกัด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ส่วนจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6ย-9011 กรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เช่นกัน โดยมีเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยว่าจำเลยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัยอันเกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์ที่จำเลยได้รับประกันภัยไว้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2538 เวลา 23.30 นาฬิกา นายชบา ได้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยมาตามถนนสุขุมวิทมุ่งหน้าแยกบางนา โดยมีนางสาวดำ นั่งโดยสารมาด้วย เมื่อมาถึงบริเวณปากซอยสุขุมวิท 81 นายคัดเค้าได้ขับรถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้ ตัดหน้ารถยนต์ที่นายชบาขับมาเพื่อเข้าซอยสุขุมวิท 81 อย่างกะทันหันเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้น เหตุเกิดจากความประมาทของนายคัดเค้าฝ่ายเดียว และทำให้นางสาวดำได้รับบาดเจ็บเสียค่ารักษาพยาบาล 19,907 บาท โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 10,000 บาท ให้นางสาวดำไปแล้ว จึงมาทวงถามให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนนี้แก่โจทก์ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่นายคัดเค้าขับ โดยมีเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยว่า จำเลยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน ในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัยอันเกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยได้รับประกันภัยไว้ ดังนั้น เมื่อนายคัดเค้าขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยด้วยความประมาทของนายคัดเค้าฝ่ายเดียว จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียไหมทดแทนให้แก่นางสาวดำซึ่งโดยสารมาในรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยและได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เมื่อโจทก์เข้ามาชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่นางสาวดำไปแล้วโจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิเรียกร้องของนางสาวดำที่มีต่อจำเลยไล่เบี้ยจำเลยให้ชดใช้เงินที่โจทก์ได้ชำระให้นางสาวดำคืนจากจำเลยต่อไปการรับช่วงสิทธิเป็นไปโดยอำนาจของกฎหมาย ส่วนการเกิดสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยตกลงไว้กับผู้เอาประกันภัยดังกล่าวข้างต้นเมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มิได้มีข้อกำหนดถึงเรื่องการรับช่วงสิทธิไว้โดยเฉพาะหลักในเรื่องการรับช่วงสิทธิมีอย่างไรย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

พิพากษายืน

สรุป

 

การรับช่วงสิทธิเป็นไปโดยอำนาจของกฎหมาย ส่วนการ เกิดสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเป็นไปตามข้อกำหนดของ กรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยตกลงไว้กับผู้เอาประกันภัย เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มิได้มีข้อกำหนดถึงเรื่องการรับช่วงสิทธิไว้โดยเฉพาะ หลักในเรื่องการรับช่วงสิทธิมีอย่างไรจึงย่อมเป็นไป ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ บ.ขับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ส่วนจำเลยเป็น ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ ส.ขับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เช่นกัน ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ส. ขับโดยมีเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยว่า จำเลยจะชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย อันเกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยได้รับประกันภัยไว้ ดังนั้นเมื่อส.ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยด้วยความประมาทของส.ฝ่ายเดียวจำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บ. ซึ่ง โดยสารมาในรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยและได้ รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัย นั้น และเมื่อโจทก์เข้ามาชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ บ. ไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิเรียกร้องของ บ. ที่มีต่อจำเลย ไล่เบี้ยเอาจากจำเลยผู้รับประกันภัยได้