Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ การแบ่งเฉลี่ยตามส่วนความเสียหาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การแบ่งเฉลี่ยตามส่วนความเสียหาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

243
0

การแบ่งเฉลี่ยตามส่วนความเสียหาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499/2530

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 3 ซึ่งมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับขี่และมีนางลั่นทมนั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์เสียหาย โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ และนางลั่นทมถึงแก่ความตาย ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขับรถ จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ ร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์และค่าสินไหมทดแทนต่อชีวิตร่างกายแก่โจทก์จำนวนรวม 347,605 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของโจทก์ที่ 2 ฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายไม่มากเท่าฟ้องทั้งจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้โดยจำกัดความรับผิดต่อทรัพย์สินกับความเสียหายเกี่ยวกับชีวิตร่างกายของบุคคลภายนอกไว้แต่ละครั้งไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 2 รวม 300,000 บาท ให้โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 65,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 รับผิดในวงเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับค่าฤชาธรรมเนียม คำขอนอกนั้นให้ยก จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา คดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันยุติ จำเลยที่ 3 คงฎีกาเฉพาะวงเงินที่จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2523 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ คันหมายเลขทะเบียน ส.บ.13789 ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้าง ไปตามถนนสายพระพุทธบาทมุ่งสู่อำเภอท่าเรือ เมื่อมาถึงทางแยกเข้าอำเภอบ้านหมอ ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรีได้ชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน อ.ย.05796 ของโจทก์ที่ 3 ซึ่งมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับขี่และนางลั่นทม ภรรยาของโจทก์ที่ 2 นั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้นางลั่นทม ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 แขนขวาขาด และขาซ้ายหัก รถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 3 เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในมูลละเมิดโดยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงินรวม 300,000 บาท ให้โจทก์ที่ 3 รวมเป็นเงิน 65,000 บาท ในขณะเกิดเหตุบริษัทประกันภัยจำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 เพื่อความรับผิดในอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ต่อบุคคลภายนอก ปัญหาจึงมีว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะเป็นบริษัทรับประกันภัยค้ำจุนให้แก่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเพียงใด พิเคราะห์สัญญากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 รายการ 4 จำนวนเงินจำกัดความรับผิด ตามสัญญาข้อ 2.1 บรรทัดแรก 100,000 บาทต่อหนึ่งคนบรรทัดถัดลงมา 100,000 บาทต่อหนึ่งครั้ง เห็นว่า แม้ในสัญญาจะระบุจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ในกรณีที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือการมรณะของบุคคลภายนอกในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อหนึ่งคน ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกหลายคนแล้ว จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในค่าเสียหายแก่ทุกคนในวงเงินคนละไม่เกิน 100,000 บาท เพราะตามสัญญา ข้อ 2.1 ในบรรทัดถัดลงมาได้จำกัดความรับผิดไว้ในวงเงิน 100,000 บาทต่อหนึ่งครั้งแล้ว ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกหลายคนด้วยกัน ทุกคนมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยจำเลยที่ 3 ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยกันตามส่วนของความเสียหายที่ได้รับ ที่ศาลล่างวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยโดยให้ร่วมใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บของโจทก์ที่ 2 และการเสียหายของโจทก์ที่ 3 กับการตายของภรรยาโจทก์ที่ 2 รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย โดยในส่วนที่เป็นค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายตามสัญญาข้อ 2.1 นั้น โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชอบที่จะได้รับค่าเสียหายส่วนนี้รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และในส่วนที่เป็นค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินตามสัญญาข้อ 2.3 นั้นข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้วว่า รถจักรยานยนต์เสียหายเป็นเงิน 15,000 บาท โจทก์ที่ 3 ชอบที่จะได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้อีก 15,000 บาท รวมจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดทั้งสิ้นเป็นเงินไม่เกิน 115,000 บาท ตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับผิดเป็นเงิน 115,000 บาทพร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี สำหรับค่าทนายความสามศาลให้ใช้แทนรวม 3,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

สรุป

สัญญากรมธรรม์ประกันภัยระบุจำนวนเงินจำกัดความรับผิดในส่วนที่เป็นค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายไว้ในข้อ 2.1 บรรทัดแรกว่า 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน และบรรทัดถัดลงมาว่า 100,000 บาท ต่อหนึ่งครั้ง ดังนี้ หากเกิดอุบัติเหตุที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดในค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกหลายคนในครั้งเดียวกันแล้วมิได้ หมายความว่า ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดต่อทุกคนในวงเงินคนละไม่เกิน 100,000 บาท แต่หมายความว่า ทุกคนมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากผู้รับประกันภัยในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยกันตามส่วนของความเสียหายที่ได้รับ.