Home คดีอาญา ขับแซงรถในที่ขับขัน ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่

ขับแซงรถในที่ขับขัน ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่

443
0

ขับแซงรถในที่ขับขัน ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 46(4), 78, 157, 160

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายอุทิศ ทัพแสง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 46(4), 78, 157, 160 (ที่ถูก 160 วรรคแรก)เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 300อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี ฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุจำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวในฟ้อง จำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-1626 สุรินทร์ ชนรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 10-2857 ขอนแก่น แล้วรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้แล่นเข้าชนรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน น-9263 สุรินทร์ ของโจทก์ร่วมซึ่งจอดอยู่บนไหล่ทางข้างหน้า เป็นเหตุให้ผู้ขับและผู้ที่นั่งมาในรถยนต์บรรทุกได้รับอันตรายแก่กาย และโจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่สำหรับความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและนายคำววง ท่วมไธสง กับนายอวน บุตรเคน เป็นพยานเบิกความฟังประกอบกันว่าก่อนจะถึงที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร นายคำวงผู้ขับรถยนต์บรรทุกได้ให้สัญญาณขอแซงขึ้นหน้าแก่รถไถนาเดินตามที่แล่นอยู่บนไหลทางข้างหน้าด้านซ้าย เมื่อได้รับสัญญาณมือจากรถไถนาเดินตาม นายคำวงจึงขับรถยนต์บรรทุกแซงขึ้นไป ขณะที่ยังแซงไม่พ้นรถไถนาเดินตามจำเลยซึ่งขับรถยนต์โดยสารตามหลังมาด้วยความเร็วสูงได้แซงรถยนต์บรรทุกขึ้นไปในลักษณะซ้อนสามคัน แต่เนื่องจากบนไหล่ทางข้างหน้าด้านขวาห่างออกไปประมาณ 50 เมตร มีรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมจอดอยู่ จำเลยจึงหักรถยนต์หลบมาชนท้ายรถยนต์บรรทุกโดยแรง ทำให้รถยนต์บรรทุกพุ่งออกไปข้างหน้า ขณะที่นายคำวงพยายามห้ามล้อรถยนต์บรรทุก รถยนต์โดยสารก็พุ่งเข้าชนท้ายอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกเสียหลักแฉลบไปชนรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมจนพลิกคว่ำตกถนนไปด้วยกัน โดยมีร้อยตำรวจโทสมศักดิ์ หว้ามุข พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุแทบจะทันทีที่เกิดเหตุได้ถ่ายภาพที่เกิดเหตุ ตามภาพถ่ายหมาย จ.1 ถึง จ.3 และทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุกับบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7 และ จ.14 ถนนที่เกิดเหตุมีผิวจราจรกว้างประมาณ5 เมตร แบ่งช่องเดินรถออกเป็น 2 ช่อง ช่องละ 2.50 เมตร ให้รถแล่นสวนทางกันโดยมีเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเป็นแนวไว้ มีไหล่ถนนเป็นลูกรังอัดแน่นกว้างข้างละ 1.60 เมตร พบคราบน้ำมันเครื่องบนถนนด้านทิศเหนือและพบรอยบดของล้อจากทางทิศเหนือของถนนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปสิ้นสุดทางด้านทิศใต้ของถนนยาวประมาณ 60 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นรอยบดของล้อรถยนต์บรรทุก ได้ถ่ายภาพจุดชนและรอยครูดได้ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 พยานได้สอบสวนนายยงยุทธ ศรีวรรณา ผู้โดยสารรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไว้ด้วย นายยงยุทธให้การว่า ครั้งแรกเห็นรถยนต์โดยสารส่ายไปมาและแล่นด้วยความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วขับแซงขึ้นไปในลักษณะซ้อนสาม ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.16 ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารตามหลังรถยนต์บรรทุกของนายคำวงมา เมื่ออยู่ห่างประมาณ 10 เมตร จำเลยเปิดไฟเลี้ยวขวาและเร่งความเร็วเพื่อจะแซงรถยนต์บรรทุก ขณะที่จำเลยขับรถยนต์โดยสารไปอยู่ห่างจากรถยนต์บรรทุกประมาณ 1 เมตร คนขับรถยนต์บรรทุกได้ขับรถแซงขึ้นหน้ารถไถนาเดินตามโดยไม่ให้สัญญาณ อันเป็นการแซงในลักษณะปาดหน้ารถยนต์โดยสารที่จำเลยขับอยู่อย่างกระทันหัน จำเลยไม่สามารถหยุดรถยนต์ได้ทันจึงชนท้ายรถยนต์บรรทุก หลังจากนั้นนายคำวงได้ห้ามล้อรถยนต์บรรทุกกลางถนน รถยนต์โดยสารจึงชนรถยนต์บรรทุกอีกครั้งหนึ่ง รถยนต์บรรทุกแล่นไปอีกประมาณ 10 เมตร ก็เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ร่วมจนล้อหน้าของรถยนต์บรรทุกหลุดออกทั้งสองข้าง ส่วนจำเลยประคองรถยนต์ไปจอดในช่องเดินรถด้านซ้าย แล้วลงไปโทรศัพท์บอกเจ้าของรถยนต์ไม่ได้หลบหนี โดยมีนายบุญล้อม มาลา นายเดือน ก้านอินทร์ และนายเฉลิมชัย ทองก้านเหลืองเป็นพยานเบิกความสนับสนุน ดังนี้เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและนายคำวงซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกและนายอวนผู้นั่งอยู่ด้านหลังของรถยนต์บรรทุกเบิกความตรงกันว่า รถยนต์โดยสารได้แล่นตามหลังรถยนต์บรรทุกมาแต่ไกลเมื่อนายคำวงขับรถยนต์บรรทุกก่อนจะถึงที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตรได้ให้สัญญาณเพื่อจะแซงรถไถนาเดินตามที่แล่นชิดขอบทางด้านซ้ายข้างหน้า แต่ขณะที่นายคำวงกำลังขับรถยนต์บรรทุกแซงรถไถนาเดินตามและยังไม่พ้นจำเลยก็ขับรถยนต์โดยสารตามมาทันและแซงรถยนต์บรรทุกทันทีในลักษณะซ้อนสามที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารมาเรื่อย ๆ ในอัตราความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พอไปอยู่ห่างจากรถยนต์บรรทุกประมาณ 10 เมตร ก็ให้สัญญาณไฟเพื่อขอแซงขึ้นหน้าทำนองว่าจำเลยมองไม่เห็นรถไถนาเดินตามและรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมบนไหล่ทางข้างหน้าทั้งสองข้าง เมื่อรถยนต์บรรทุกแซงรถไถนาเดินตามโดยกะทันหันจำเลยจึงไม่สามารถหยุดรถหรือหลบหลีกพ้นนั้นขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ เพราะจำเลยขับรถยนต์โดยสารประจำอยู่ในเส้นทางดังกล่าวย่อมทราบถึงสภาพของถนนที่เกิดเหตุได้ดีประกอบกับถนนในช่วงที่เกิดเหตุเป็นทางตรงสองข้างทางเป็นที่โล่งไม่มีสิ่งใดปิดบังดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.2 และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.14 ข้อ 8.4 เชื่อว่าจำเลยมองเห็นรถไถนาเดินตามและรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมในขณะที่อยู่ห่างจากรถดังกล่าวในระยะพอสมควรแล้ว เมื่อมีรถยนต์บรรทุกแล่นอยู่ข้างหน้าเช่นนั้น จำเลยชอบที่จะใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์โดยชะลอความเร็วของรถยนต์โดยสารลงเพื่อให้รถยนต์บรรทุกแล่นผ่านรถทั้งสองคันดังกล่าวในระยะปลอดภัยก่อนจึงค่อยแซงขึ้นไป การที่จำเลยเร่งความเร็วของรถยนต์โดยสารและแซงซ้อนสามขึ้นไป น่าเชื่อว่าจำเลยขับรถยนต์โดยสารไล่หลังรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วสูงเพื่อจะแซงขึ้นหน้ารถยนต์บรรทุก ซึ่งมีสภาพค่อนข้างเก่าและแล่นค่อนข้างช้าให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงสภาพของทางเดินรถในขณะนั้นมากกว่า หาใช่เพราะรถยนต์บรรทุกแล่นปาดหน้ารถยนต์โดยสารที่จำเลยขับโดยกะทันหันตามทางนำสืบของจำเลยไม่ การที่จำเลยขับรถยนต์โดยสารไปอยู่ในระยะห่างจากรถยนต์บรรทุกเพียง 10 เมตร แล้วเร่งความเร็วเพื่อจะแซงขึ้นหน้ารถยนต์บรรทุกในขณะที่รถยนต์บรรทุกกำลังแซงขึ้นหน้ารถไถนาเดินตามข้างซ้าย โดยมีรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมจอดอยู่บนไหลทางข้างขวาในถนนที่มีผิวจราจรกว้างเพียง 5 เมตรเช่นนี้ เป็นการแซงรถเมื่อเข้าที่คับขันซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยควรคาดหมายได้ว่าการขับรถยนต์แซงขึ้นไปเช่นนั้นอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นในทางเดินรถได้ เป็นการกระทำโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทนั้นชอบแล้ว

ส่วนความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายคำวง ท่วงไธสง เป็นพยานเบิกความว่า หลังเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์โดยสารไปจอดห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร แล้วลงจากรถยนต์วิ่งหลบหนีไปในตลาดสุขาภิบาลชุมพลบุรี พยานกับพวกวิ่งไล่ติดตามไปแต่ไม่ทัน และมีนายคำดี แสวงพันธ์พนักงานควบคุมดูแลรถของบริษัทตั้งใจมานะขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยเบิกความยืนยันว่า หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีกับมีร้อยตำรวจเอกสมพงษ์ เหล่าคะเนย์เบิกความประกอบบันทึกการมอบตัวผู้ต้องหา และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ว่า ชั้นมอบตัวและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาหลบหนีไม่แจ้งเหตุ ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าหลังเกิดเหตุจำเลยไปโทรศัพท์แจ้งเจ้าของรถซึ่งเป็นการนำสืบลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสมีกำหนด1 ปี นั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสม”

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุอีก 2 เดือน แล้วเป็นจำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1

สรุป

การที่จำเลยขับรถยนต์โดยสารห่างจากรถยนต์บรรทุกเพียง10 เมตร แล้วเร่งความเร็วเพื่อจะแซงขึ้นหน้ารถยนต์บรรทุกในขณะที่รถยนต์บรรทุกกำลังแซงขึ้นหน้ารถไถนาเดินตามข้างซ้ายโดยมีรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมจอดอยู่บนไหล่ทางข้างขวาในถนนที่มีผิดจราจรกว้างเพียง 5 เมตร เช่นนี้ เป็นการแซงรถเมื่อเข้าที่คับขันซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยควรคาดหมายได้ว่าการขับรถยนต์แซงขึ้นไปเช่นนั้นอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นในทางเดินรถได้เป็นการกระทำโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์จำเลยจึงมีความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท