Home คดีแพ่ง ความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันจะถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมหรือไม่

ความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันจะถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมหรือไม่

820
0

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 887 อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย

อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2551

แม้จะได้ความว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนความเสียหายโดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวเช่นกัน จำเลยที่ 3 จะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์ดังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาในข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 3 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินไม่เกิน 250,000 บาท รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้คิดเฉพาะค่าสินไหมทดแทนเท่านั้นที่ต้องไม่เกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมศาลเป็นเรื่องของคู่ความในคดีที่จะต้องรับผิดในการสู้ความหรือดำเนินคดีของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นความรับผิดต่างหากจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

กล่าวโดยสรุป

ความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716