Home คดีอาญา ตัวแทนเก็บเบี้ยและไม่นำส่งบริษัท บริษัทประกันต้องรับผิดชอบหรือไม่

ตัวแทนเก็บเบี้ยและไม่นำส่งบริษัท บริษัทประกันต้องรับผิดชอบหรือไม่

637
0

ตัวแทนประกันชีวิตได้รับมอบหมายให้ทำธุรกิจแทนบริษัท มีหน้าที่ชักชวนให้ประชาชนมาทำประกัน ถ้าตัวแทนเก็บเบี้ยประกันไปแล้วไม่นำส่งบริษัท ไม่แจ้งให้บริษัทราบ บริษัทประกันต้องรับผิดหรือไม่  ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้ คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๘๒๑  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา 425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

 มาตรา 426  นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น

 มาตรา 427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วย โดยอนุโลม

 

พฤติการณ์ที่บริษัทประกันยอมให้ตัวแทนประกันชีวิตติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของบริษัทประกันโดยเปิดเผย เท่ากับบริษัทประกันเชิดให้ตัวแทนประกันชีวิตนั้นเป็นตัวแทนของตนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันล่วงหน้า เมื่อตัวแทนประกันชีวิตนั้นทำการฉ้อฉลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอันเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทประกันต้องรับผิดต่อผู้เสียหายเสมือนตัวแทนประกันชีวิตนั้นเป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของตัวแทนประกันชีวิตต่อผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา ดังต่อไปนี้คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๖๑/๒๕๕๕

การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156

โจทก์ทั้งสามรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตฉบับเดิม โจทก์ทั้งสามย่อมให้ความเชื่อถือไว้วางใจ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามประมาทเลินเล่อในการลงลายมือชื่อในคำขอทำสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์จึงไม่มีผลสมบูรณ์ที่ใช้บังคับได้

จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจรับเบี้ยประกันชีวิตในนามจำเลยที่ 2 ดังนี้ คนทั่วไปที่ถูกจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ย่อมต้องเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าด้วย ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ทั้งสามเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จึงเท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้า การที่จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสามให้ลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตเป็นการจงใจให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ด้วย

ค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสามในการติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเบี้ยประกันชีวิต เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาเป็นโมฆะ หากโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายย่อมเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ตัวแทนประกันชีวิตได้รับมอบหมายให้ทำธุรกิจแทนบริษัท มีหน้าที่ชักชวนให้ประชาชนมาทำประกัน ถ้าตัวแทนเก็บเบี้ยประกันไปแล้วไม่นำส่งบริษัท ไม่แจ้งให้บริษัทราบ บริษัทประกันต้องรับผิด