Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ นายจ้างทำประกันชีวิตและเป็นผู้รับประโยชน์ในกรณีลูกจ้างเสียชีวิตได้หรือไม่

นายจ้างทำประกันชีวิตและเป็นผู้รับประโยชน์ในกรณีลูกจ้างเสียชีวิตได้หรือไม่

507
0

นายจ้างทำประกันชีวิตและเป็นผู้รับประโยชน์ในกรณีลูกจ้างเสียชีวิตได้หรือไม่

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน  โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา  จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า นายจ้างทำประกันชีวิตและเป็นผู้รับประโยชน์ในกรณีลูกจ้างเสียชีวิตได้หรือไม่ มีผลอย่างไรเชิญอ่านได้เลยครับ

แนวคิดพื้นฐานของสัญญาประกันภัยนั้นคือ บุคคลผู้เอาประกันภัยนั้นจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน ดังนี้ การจะทำประกันชีวิตนั้นผู้เอาประกันจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันนั้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้การทำประกันชีวิตนั้นนอกจากจะประกันชีวิตตนเองแล้ว ผู้เอาประกันยังสามารถประกันชีวิตของผู้อื่นได้ด้วย หากตนมีส่วนได้เสีย และในประเทศไทยได้บัญญัติหลักนี้ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ซึ่งบัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

การทำประกันชีวิตบุคคลอื่นนั้น มีด้วยกันอยู่ 2 กรณี คือ กรณีการทำประกันชีวิตของบุคคลที่เป็นญาติ เช่น พ่อแม่ทำประกันให้แก่บุตร เป็นต้น และอีกกรณีคือการทำประกันชีวิตบุคคลที่ไม่ใช่ญาติแต่มีความสัมพันธ์ถึงขนาดการตายของบุคคลผู้ประกันชีวิตไว้นั้นมีผลต่อผู้ทำประกัน เช่น บุคคลผู้มีความสัมพันธ์กันในฐานะเจ้าหนี้และลูกหนี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั้น ถ้าลูกจ้างนั้นมีตำแหน่งสำคัญเป็นหัวใจหลักของบริษัท (Key Man) เป็นความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจที่อาจมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษถึงขนาดที่ว่าหากลูกจ้างนั้นตายแล้วจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจของนายจ้าง เช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่สงสัยในความสัมพันธ์และส่วนได้เสียในชีวิตของลูกจ้าง แต่ถ้าหากลูกจ้างนั้นมีเพียงสถานะการจ้างทั่วไปเช่นนี้จะถือว่านายจ้างมีส่วนได้เสียในชีวิตของลูกจ้างมากจนถึงขนาดที่นายจ้างจะสามารถทำประกันชีวิตของลูกจ้างได้หรือไม่

ในประเด็นดังกล่าวข้างต้นนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2516 (ประชุมใหญ่) วางหลักว่า  “ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นนายจ้าง นายเนื่องเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกน้ำมันให้โจทก์ และอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นในระหว่างอายุสัญญาจ้าง โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างในกรณีเช่นนี้มีความรับผิดตามกฎหมายที่เห็นอยู่ชัด ๆ สองประการ ประการแรกคือ ความรับผิดของนายจ้างต่อความละเมิดในทางการที่จ้างของลูกจ้างและอีกประการหนึ่งคือความรับผิดของนายจ้างที่จะต้องจ่ายแก่ทายาทผู้อยู่ใต้อุปการะลูกจ้างผู้ตาย ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 นอกจากนั้นรถบรรทุกน้ำมันของโจทก์ย่อมจะมีราคาไม่ใช่น้อย โจทก์จะต้องใช้บุคคลที่มีความชำนิชำนาญและไว้วางใจไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะมาขับรถบรรทุกน้ำมันกันได้ทั้งนั้น เมื่อรวมเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามความหมายในมาตรา 863 ดังกล่าวข้างต้นแล้วเมื่อโจทก์มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายเนื่องลูกจ้างดังกล่าวการประกันภัยรายพิพาทนี้จึงไม่ใช่การพนันขันต่อและหาเป็นโมฆะไม่…”

สรุป ในกรณีที่นายจ้างมีส่วนได้เสียกับความเป็นอยู่ของลูกจ้างจนถึงขนาด เช่น ลูกจ้างเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทซึ่งหากลูกจ้างตายจะมีผลกระทบต่อกิจการของนายจ้าง หรือในกรณีที่ลูกจ้างมีสถานะเป็นการจ้างงานทั่วไปแต่มีทักษะความชำนาญงานเป็นพิเศษและกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง เช่นนี้ นายจ้างย่อมมีส่วนได้เสียถึงขนาดที่นายจ้างสามารถทำประกันชีวิตของลูกจ้างและเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายฟ้องประกัน

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935