Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ บันทึกตกลงไม่ติดใจ ค่าเสียหายทางแพ่ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกได้หรือไม่

บันทึกตกลงไม่ติดใจ ค่าเสียหายทางแพ่ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกได้หรือไม่

377
0

บันทึกตกลงไม่ติดใจ ค่าเสียหายทางแพ่ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9396/2555

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินค่าเสียหายรวม 968,087.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 619,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 31,200 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ แทนจำเลยทั้งสองกับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า บันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง มีผลผูกพันให้จำเลยทั้งสองที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกการตกลงค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งทำขึ้นก่อนบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างยอมรับว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของทั้งสองฝ่าย และต่างไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความรับผิดอันใดที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองอันสืบเนื่องมาจากเหตุรถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันอีก จึงไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องซื้อรถยนต์คันใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสองดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองขาดเหตุผลอันควรรับฟัง แม้โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการกระทำผิด แต่โจทก์ที่ 1 ก็มีส่วนร่วมในการกระทำผิดเช่นเดียวกัน ทั้งต่างก็ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนส่วนอื่นได้อีก การที่จำเลยทั้งสองยอมทำบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง จำเลยทั้งสองอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือโจทก์ให้บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซ่อมรถยนต์ให้โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตามคำแนะนำของนายมะหิน ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัย เห็นว่า บันทึกฉบับหลังทำหลังจากบันทึกฉบับแรก ประมาณ 5 ถึง 10 นาทีเท่านั้น แม้ทั้งจำเลยที่ 1 จะรับราชการเป็นครู มีวุฒิภาวะและความรู้ความสามารถ ตลอดจนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ประกันภัยประเภทชั้นหนึ่ง ซึ่งบริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดชอบทุกกรณี ไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ก็ตาม แต่ในสภาวะที่จำเลยที่ 1 ขับรถเกิดอุบัติเหตุและมีการตกลงในเรื่องค่าเสียหายว่า ต่างไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของคู่กรณีแล้วเมื่อตัวแทนของบริษัทผู้รับประกันภัยมาร้องขอให้ทำบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง อ้างว่าเพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่ามีการทำบันทึกไม่เรียกร้องค่าเสียหายกันไว้แล้ว จึงยอมช่วยเหลือ โจทก์ทั้งสองตามคำร้องขอ ด้วยการทำบันทึกฉบับที่ 2 ซึ่งขณะนั้นจำเลยทั้งสองคงไม่ทราบว่า โจทก์ทั้งสองประกันภัยรถยนต์ประเภทใดไว้ ทั้งจำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสอง จึงมีเหตุผลให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง คู่สัญญามีเจตนาลวงเพื่อนำไปเป็นหลักฐานให้บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซ่อมรถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ 1 บันทึกการตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องรับผิด ตามบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา ในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าเช่ารถยนต์จำนวน 31,200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ตามบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยแล้วว่า สัญญาตามบันทึกข้อตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง ตกเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องรับผิดตามสัญญาซึ่งย่อมรวมถึง ความเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาด้วย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มี คู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

สรุป

หลังจากรถกระบะของโจทก์ที่ 1 เฉี่ยวชนกับรถกระบะของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างยอมรับว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของทั้งสองฝ่าย และต่างไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน ตามบันทึกการตกลงค่าเสียหายทางแพ่ง ในวันเดียวกันโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงขึ้นอีก 1 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญว่า ฝ่ายจำเลยรับว่าจะซื้อรถยนต์คันใหม่ให้แก่ฝ่ายโจทก์แล้วให้ฝ่ายโจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 1146 อุดรธานี (ป้ายแดง) ให้แก่ฝ่ายจำเลย ตามบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง ซึ่งทำขึ้นก่อนบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างยอมรับว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของทั้งสองฝ่าย และต่างไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดอันใดที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองอันสืบเนื่องมาจากเหตุรถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันอีก เมื่อตัวแทนของบริษัทผู้รับประกันภัยมาร้องขอให้ทำบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง อ้างว่าเพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสอง บันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง คู่สัญญามีเจตนาลวงเพื่อนำไปเป็นหลักฐานให้บริษัทประกันภัยซ่อมรถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ 1 บันทึกการตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องรับผิดตามบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง