Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ บิดา มารดา ต้องไปเฝ้าขณะที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

บิดา มารดา ต้องไปเฝ้าขณะที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

268
0

บิดา มารดา ต้องไปเฝ้าขณะที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2538

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นข้าราชการตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน 3อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0466 นครศรีธรรมราช และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถคันดังกล่าวตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1โดยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนเพชรเกษม ขณะที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน พัทลุง ข-3838 แล่นอยู่ข้างหน้ารถคันที่จำเลยที่ 2 ขับและโจทก์กำลังเลี้ยวไปทางขวามือจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทชนรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ขับล้มลง ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บสาหัส และรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ขับเสียหาย โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลรวมเป็นเงิน 80,000 บาท ค่าเสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตเป็นเงิน 200,000 บาท ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องทนทุกขเวทนาเป็นเงิน 200,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ไม่มีสิทธิได้รับค่าที่พักและค่าเบี้ยเลี้ยงคิดเป็นเงิน 15,365 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 495,365 บาท จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 495,365 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และให้ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิจะแก้ไขคำพิพากษาเพื่อเพิ่มค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ได้อีกภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร

จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังจากโจทก์ได้เข้าทำการรักษาพยาบาลแล้วสุขภาพร่างกายของโจทก์สมบูรณ์ดีดังปกติไม่ได้เป็นผู้เสียความสามารถประกอบการงานโจทก์จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน75,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกโจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่4 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ได้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0466 นครศรีธรรมราชของจำเลยที่ 1 ไปในทางการจ้างของจำเลยที่ 1 ชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน พัทลุง ข-3838 ที่โจทก์ขับโดยประมาทเลินเล่อแต่ฝ่ายเดียว เหตุเกิดที่ หมู่ที่ 4 ตำบลปรางหมู่อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ทำให้รถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ขับได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสต้องเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลครั้งแรก 39 วันและหลังจากนั้นได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นครั้งคราวอีกด้วย ขณะเกิดเหตุโจทก์อายุ 22 ปี จบการศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างเป็นนักศึกษาโจทก์เป็นนักกีฬาฟุตบอลของคณะสังคมศาสตร์ดังกล่าว เมื่อจบแล้วเข้ารับราชการตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน 3กรมพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย โจทก์นำสืบว่า บิดามารดาโจทก์ได้ใช้จ่ายในการเดินทางมาเฝ้าดูแลโจทก์ขณะที่โจทก์รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ประกอบการงานในระหว่างที่เฝ้าดูแลรักษาตามรายการที่ 5 รวมเป็นเงิน60,000 บาท นั้นเห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่บิดามารดาโจทก์เดินทางไปเฝ้าดูแลโจทก์ขณะที่โจทก์พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเนื่องจากโจทก์ช่วยตัวเองไม่ได้ แพทย์ไม่ให้เคลื่อนไหวเพราะหากหกล้มจะเป็นอัมพาต จำเป็นต้องมีผู้ดูแล ฉะนั้น ค่าเดินทางและค่าที่พักที่บิดามารดาโจทก์ใช้จ่ายไป จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการรักษาพยาบาลโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อปรากฏว่าบิดาโจทก์ทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานครต้องเดินทางไปกลับเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักเป็นเงิน 12,500 บาทมารดาโจทก์ทำงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปหาดใหญ่ 800 บาทและค่าใช้จ่ายประจำวันขณะเฝ้าดูแลโจทก์วันละ 150 บาทเป็นเวลา 36 วัน จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้รวมเป็นเงิน 16,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์ที่บิดามารดาโจทก์ไม่ได้ประกอบการงานในระหว่างที่เฝ้าดูแลรักษาโจทก์นั้น มิใช่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์พึงเรียกร้องได้ในกรณีที่มีผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444, 445 และ 446”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน266,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

สรุป

บิดามารดาโจทก์เดินทางไปเฝ้าดูแลโจทก์ขณะที่โจทก์พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากโจทก์ช่วยตัวเองไม่ได้แพทย์ไม่ให้เคลื่อนไหวเพราะหากหกล้มจะเป็นอัมพาต จำเป็นต้อง มีผู้ดูแล ค่าเดินทางและค่าที่พักที่บิดามารดาโจทก์ใช้จ่ายไป จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการรักษาพยาบาลโจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ ค่าขาดประโยชน์ที่บิดามารดาโจทก์ไม่ได้ประกอบการงานในระหว่างที่เฝ้าดูแลรักษาโจทก์ มิใช่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์พึงเรียกร้องได้จากผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444,445 และ 446