Home คดีอาญา บุตรนอกสมรสมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีประกันภัยหรือไม่

บุตรนอกสมรสมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีประกันภัยหรือไม่

379
0

บุตรนอกสมรสมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีประกันภัยหรือไม่

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และให้อนุญาโตตุลาการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความหรือยกคำเสนอข้อพิพาทที่ 1 และให้ผู้คัดค้านผู้เสนอข้อพิพาทที่ 1 คืนเงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันรับเงินจากผู้ร้องแก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 กร 314 กรุงเทพมหานคร ขณะเกิดเหตุ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ยังมีผลคุ้มครอง ส่วนผู้คัดค้านกับนางสาวคำนึง อยู่กินฉันสามีภรรยามีบุตร 2 คน คือ นางสาวจีรนันท์ และนายจักรพันธุ์ เวลา 22.30 นาฬิกา รถยนต์คันที่ผู้ร้องรับประกันภัยชนกับรถจักรยานยนต์ที่มีนายปฏิภาณขับขี่โดยนางสาวจีรนันท์บุตรของผู้คัดค้านนั่งโดยสาร นางสาวจีรนันท์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวคำนึง ผู้คัดค้านและนางสาวคำนึงในฐานะบิดามารดาของนางสาวจีรนันท์ผู้ตายจึงใช้สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยวิธีระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ต่อมาอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะแก่ผู้คัดค้านคนละ 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุละเมิดนางสาวจีรนันท์ ผู้ตาย เป็นบุตรนอกสมรสของผู้คัดค้านซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับนางสาวคำนึง มารดาของผู้ตาย หลังจากนางสาวจีรนันท์ ผู้ตาย ถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านจึงได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้ตาย เป็นผลให้นางสาวจีรนันท์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านกับมารดาของผู้ตาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด ดังนั้น แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 ซึ่งขณะนั้นนางสาวจีรนันท์มีอายุ 21 ปีเศษ และถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านและนางสาวคำนึง บิดามารดาของนางสาวจีรนันท์ จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ย่อมมีผลให้นางสาวจีรนันท์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่นางสาวจีรนันท์เกิดคือตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2537 นางสาวจีรนันท์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานับแต่นั้น การทำละเมิดเป็นเหตุให้นางสาวจีรนันท์ถึงแก่ความตายย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาขาดไร้อุปการะ การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

สรุป

ขณะเกิดเหตุละเมิด จ. ผู้ตาย เป็นบุตรนอกสมรสของผู้คัดค้านซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับ ค. มารดาของผู้ตาย หลังจาก จ. ถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้ตาย เป็นผลให้ จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านกับมารดาของผู้ตาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด ดังนั้น แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 ขณะนั้น จ. มีอายุ 21 ปีเศษ และถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านและ ค. บิดามารดาของ จ. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ย่อมมีผลให้ จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ จ. เกิด คือตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2537 จ. จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานับแต่นั้น การทำละเมิดเป็นเหตุให้ จ. ถึงแก่ความตายย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาขาดไร้อุปการะ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่ให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

iber.me/tanai-athip

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935