สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า ยังไม่มี“ผู้จัดการมรดก”จะติดต่อขอรับเงินประกันได้หรือไม่ เชิญอ่านได้เลยครับ

มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ตาย เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร เงินประกัน ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินที่มีผู้อื่นยืมไป หนี้ ภาระติดพันต่างๆ ทั้งการจำนองหรือค้ำประกัน เป็นต้น ดังนั้น หลังจากที่ผู้ตาย หรือที่กฎหมายเรียกว่า “เจ้ามรดก” ได้ถึงแก่กรรมแล้วนั้น ถึงแม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมก็ตาม แต่ก็อาจมีปัญหาในการแบ่งมรดก ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินได้ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หรือลูกหนี้ของเจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ กฎหมายจึงให้ตั้งผู้ที่จะมาจัดการมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเรียกว่า “ผู้จัดการมรดก” และถึงแม้เจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมโดยจะตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมไว้หรือไม่นั้น ทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมก็มีความจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเช่นกัน

ทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก มี 6 ลำดับ ดังนี้
1.ผู้สืบสันดาน คือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
2.บิดามารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก
3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4.พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน
5.ปู่ ย่า ตา ยาย
6.ลุง ป้า น้า อา

กล่าวโดยสรุป

ในกรณีของผู้เอาประกันที่เสียชีวิต (เจ้ามรดก) และไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ไว้ในกรมธรรม์ ทายาทที่ยังมีสิทธิได้รับมรดกอยู่ๆจะเดินเข้าไปติดต่อขอรับเงินประกันยังไม่ได้ (คิดว่าคงไม่มีบริษัทไหนยอมจ่ายเงินให้ แต่ถ้ามีคงวุ่นวายน่าดูในภายหลัง) จะต้องดำเนินการแต่งตั้ง“ผู้จัดการมรดก”เพื่อมาจัดการทรัพย์สินรวมถึงหนี้สินของผู้เอาประกันที่เสียชีวิตก่อน ซึ่งระยะเวลาก็แตกต่างกันไป อย่างเร็วอาจจะ 3 เดือน อย่างช้าอาจจะ 6 เดือน ถ้าครอบครัวไหนทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกเยอะหรือผลประโยชน์เยอะอาจจะมีปัญหาในการยื่นเป็นผู้จัดการมรดก อาจจะใช้ระยะเวลาเป็นปีก็เป็นได้

iber.me/tanai-athip

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935