Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ศาลฎีกาตีความการรับผิดข้อตกลงรับผิดเฉพาะรายตามกรมธรรม์ไว้อย่างไร

ศาลฎีกาตีความการรับผิดข้อตกลงรับผิดเฉพาะรายตามกรมธรรม์ไว้อย่างไร

462
0

ศาลฎีกาตีความการรับผิดข้อตกลงรับผิดเฉพาะรายตามกรมธรรม์ไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12896/2557

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,727 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,297 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยสละประเด็นตามข้อต่อสู้อื่น คงติดใจให้ศาลวินิจฉัยเพียงในประเด็นว่า จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 5917 นครราชสีมา ภาคสมัครใจ ประเภท 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ต่อไป

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า เห็นควรพิจารณาคำร้องขอเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียก่อน ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าสมควรอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตามคำร้อง

ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฮ – 0815 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจ่าสิบเอกสัญญาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคบังคับ ส่วนรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 5917 นครราชสีมา ไม่ได้ทำประกันภัยภาคบังคับไว้ แต่ได้ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวระบุจำนวนเงินคุ้มครองในส่วนความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้ว่า ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 250,000 บาท ต่อคน 10,000,000 บาท ต่อครั้ง ขณะเกิดเหตุคดีนี้วงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรณีความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยคือ 50,000 บาท ต่อหนึ่งคน ในวันเกิดเหตุตามฟ้องรถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน โดยเหตุเกิดจากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของนายมะดัน ผู้ขับรถบรรทุกที่จำเลยรับประกันภัย เป็นเหตุให้จ่าสิบเอกสัญญาผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับบาดเจ็บ โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลแก่จ่าสิบเอกสัญญาไปแล้ว 5,297 บาท และมาเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยภาคสมัครใจตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การประกันภัยรถยนต์มี 2 ประเภท คือ การประกันภัยภาคบังคับ กับการประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งในการประกันภัยภาคบังคับนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7 บัญญัติให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย เว้นแต่รถบางประเภทดังบัญญัติไว้ในมาตรา 8 ส่วนจำนวนเงินเอาประกันภัยเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หากเจ้าของรถไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษตามกฎหมาย ส่วนการประกันภัยภาคสมัครใจ เป็นการประกันภัยที่เกิดจากความตกลงกันของผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย โดยจะจัดให้มีการประกันภัยประเภทนี้หรือไม่ก็ได้ และหากทำประกันภัยกันคู่สัญญาก็สามารถตกลงกันเกี่ยวกับจำนวนเงินเอาประกันภัย ความคุ้มครอง ตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากข้อตกลงนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายก็ย่อมบังคับได้ สำหรับคดีนี้จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 5917 นครราชสีมา โดยเป็นการประกันภัยภาคสมัครใจ โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัย ความคุ้มครองและเงื่อนไขต่าง ๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้แก่ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เช่นนี้ความรับผิดของจำเลยจึงเป็นไปตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลย ซึ่งจำเลยยอมตนผูกพันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยที่เกิดแก่บุคคลภายนอก แต่อย่างไรก็ตามความรับผิดของจำเลยจะมีอยู่เพียงใดย่อมต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงตามสัญญาประกันภัยนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว เห็นได้ว่าระบุไว้โดยชัดเจนถึงความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยไว้ว่า เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 250,000 บาท ต่อคน ซึ่งเท่ากับจำเลยจะต้องรับผิดก็เมื่อความเสียหายนั้นเกินกว่าวงเงินสูงสุดของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ โดยรับผิดในส่วนเกินนั้นไม่เกิน 250,000 บาท ต่อคน แต่หากความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เกินวงเงินสูงสุดของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดของจำเลย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยภาคบังคับ หรือเจ้าของรถ หรือผู้ทำละเมิด แล้วแต่กรณี เมื่อได้ความว่าความเสียหายคดีนี้มีจำนวนเพียง 5,297 บาท ซึ่งอยู่ในวงเงินของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ จึงไม่อยู่ในความรับผิดของจำเลย ข้อตกลงของผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเช่นว่านี้เป็นการกำหนดความคุ้มครองมิให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการประกันภัยภาคบังคับ และเป็นการแบ่งความคุ้มครองออกเป็นคนละส่วน โดยมิได้ทำให้บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากการใช้รถต้องเสียสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายแต่ประการใด ทั้งแบบกรมธรรม์ประกันภัยก็เป็นไปตามที่กรมการประกันภัยกำหนดให้ใช้บังคับ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด ส่วนโจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาเงินที่ได้จ่ายไปจากผู้ใดได้หรือไม่ เพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

กรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยระบุความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยไว้ว่า เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 250,000 บาท ต่อคน ซึ่งเท่ากับจำเลยจะต้องรับผิดก็เมื่อความเสียหายนั้นเกินกว่าวงเงินสูงสุดของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ โดยรับผิดในส่วนเกินนั้นไม่เกิน 250,000 บาท ต่อคน แต่หากความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เกินวงเงินสูงสุดของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดของจำเลย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยภาคบังคับ หรือเจ้าของรถ หรือผู้ทำละเมิด แล้วแต่กรณี เมื่อความเสียหายคดีนี้มีจำนวนเพียง 5,297 บาท ซึ่งอยู่ในวงเงินของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ จึงไม่อยู่ในความรับผิดของจำเลย ข้อตกลงของผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเช่นว่านี้เป็นการกำหนดความคุ้มครองมิให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการประกันภัยภาคบังคับ และเป็นการแบ่งความคุ้มครองออกเป็นคนละส่วน โดยมิได้ทำให้บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากการใช้รถต้องเสียสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายแต่ประการใด ทั้งแบบกรมธรรม์ประกันภัยก็เป็นไปตามที่กรมการประกันภัยกำหนดให้ใช้บังคับ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด ส่วนโจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาเงินที่ได้จ่ายไปจากผู้ใดได้หรือไม่ เพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535