Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ระงับไปหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาจากจุดใด

สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ระงับไปหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาจากจุดใด

259
0

สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ระงับไปหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาจากจุดใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6285/2559

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 81,427 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 65,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (25 สิงหาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 โจทก์ในฐานะมารดาของนายกระโดน ผู้ตาย และในฐานะผู้อุปการะบุตรผู้เยาว์ของผู้ตาย ยื่นฟ้องนายประดู่ ผู้ขับรถบรรทุก ยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขทะเบียน 74 – 6698 กรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถาวรขนส่ง ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของรถบรรทุกคันดังกล่าวเป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2623/2547 จากการที่นายประดู่ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่นายกระโดนเป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้นายกระโดนถึงแก่ความตาย ให้ชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 758,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถาวรขนส่ง เรียกจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถาวรขนส่ง ประเภทประกันภัยค้ำจุนและคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าว และมีการตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยตกลงชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพและค่าซ่อมรถจักรยานยนต์รวมเป็นเงิน 200,000 บาท เมื่อโจทก์รับเงินดังกล่าวแล้วจึงถอนฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถระงับไปหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ผู้ประสบภัยจากรถมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นเงิน 80,000 บาท โจทก์ได้รับชดใช้ในเบื้องต้นแล้วเป็นเงิน 15,000 บาท ยังเหลือค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดอยู่ 65,000 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับ การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในระหว่างการดำเนินคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หมายเลขดำที่ 2623/2547 ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ระงับสิ้นไป เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถาวรขนส่ง ทำสัญญาประกันภัยรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 74 – 6698 กรุงเทพมหานคร กับจำเลย 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาประกันภัยรถประเภท 1 อันเป็นการประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกรณีความเสียหายต่อชีวิตเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นเงิน 200,000 บาท ต่อคน และสัญญาประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอันเป็นการประกันภัยภาคบังคับ ซึ่งวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 80,000 บาท ต่อคน สำหรับการเสียชีวิตและจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีความเสียหายต่อชีวิต 15,000 บาท โดยเงินค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องของเอกสารทั้งสองฉบับ โดยโจทก์บรรยายมาในคำฟ้องแล้วว่าภายหลังเกิดเหตุรถเฉี่ยวชน โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเงิน 15,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์จึงยื่นฟ้องนายประดู่และห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถาวรขนส่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2623/2547 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ระหว่างการพิจารณาคดี ห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถาวรขนส่ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลในคดีดังกล่าวหมายเรียกจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถาวรขนส่ง เอาประกันภัยรถบรรทุกไว้กับจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และประกันภัยรถประเภท 1 ทั้งเมื่อพิจารณาว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าภายหลังเกิดเหตุรถเฉี่ยวชน โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบมาแต่ต้นว่ามีการทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มิใช่เพิ่งทราบหลังมีการถอนฟ้องดังที่โจทก์อ้าง และเมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความพร้อมแบบขอเบิกค่าสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ ที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารทั้งสองฉบับ โดยในแบบขอเบิกค่าสินไหมมีการระบุไว้ในวงเล็บที่ด้านข้างของส่วนที่เป็นลายมือชื่อโจทก์ว่า “เป็น พ.ร.บ. 65,000 บจ. 135,000” อันเป็นการแยกแยะว่าเงิน 200,000 บาท ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมี 2 ส่วน โดยส่วนที่เป็นเงิน 65,000 บาท น่าจะเป็นเงินที่จ่ายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ยังขาดอีก 65,000 บาท ส่วนเงินอีก 135,000 บาท น่าจะเป็นการจ่ายให้ตามสัญญาประกันภัยรถประเภท 1 การลงข้อความดังกล่าวโจทก์มิได้สืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งเมื่อพิจารณาว่าสัญญาประกันภัยรถประเภท 1 กำหนดความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกรณีความเสียหายต่อชีวิตเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเงิน 200,000 บาท ต่อคน หากเงิน 200,000 บาท ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการพิจารณาเฉพาะการจ่ายตามสัญญาประกันภัยประเภท 1 จะเท่ากับจำเลยยอมจ่ายเต็มตามวงเงินประกันภัย จำเลยคงไม่ต้องเจรจาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และให้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า เมื่อโจทก์ได้รับเงิน 200,000 บาท แล้ว ขอให้สัญญาว่าไม่ติดใจจะว่ากล่าวเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญากับจำเลยต่อไป การที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย และจำเลยจ่ายเงิน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการตกลงประนีประนอมยอมความครอบคลุมสัญญาประกันภัยทั้งสองกรมธรรม์ คือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยทั้งสองสัญญาเป็นอันระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เมื่อโจทก์ได้รับชำระเงิน 200,000 บาท จากจำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงไม่มีสิทธิย้อนกลับมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอาจากจำเลยได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีเพียง 65,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 1,625 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมา 2,035 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์

พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 410 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

หลังเกิดเหตุ โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นเงิน 15,000 บาท ต่อมาโจทก์ฟ้อง ป. ผู้ทำละเมิดและห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. นายจ้าง โดยมีจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยร่วม และมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความครอบคลุมทั้งกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและกรมธรรม์ภาคสมัครใจ โดยในแบบขอเบิกเงินค่าสินไหมทดแทนมีการวงเล็บที่ด้านข้างของส่วนที่เป็นลายมือชื่อโจทก์ว่าเป็น พ.ร.บ. 65,000 บาท บจ. 135,000 บาท อันเป็นการแยกแยะว่าเงิน 200,000 บาท ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมี 2 ส่วน โดยส่วนที่เป็นเงิน 65,000 บาท น่าจะเป็นเงินที่จ่ายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ยังขาดอีก 65,000 บาท ส่วนเงินอีก 135,000 บาท น่าจะเป็นการจ่ายให้ตามสัญญาประกันภัยรถประเภท 1 ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยทั้งสองฉบับเป็นอันระงับสิ้นไป เมื่อโจทก์ได้รับชำระเงิน 200,000 บาท จากจำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงไม่มีสิทธิย้อนกลับมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอาจากจำเลยได้อีก