Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ หลักการตีความสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาตีความอย่างไร

หลักการตีความสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาตีความอย่างไร

309
0

หลักการตีความสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาตีความอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6886/2542

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อและครอบครองรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 8ท – 9068 กรุงเทพมหานคร โจทก์เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แก่จำเลย นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2537 เป็นการประกันภัยแบบชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิง ต่อมาโจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์แก่นางมะพร้าว ภริยา โดยโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2537 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายยมหิน ลูกจ้างของโจทก์ได้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่บริเวณสะพานข้ามคลองประปา เป็นเหตุให้นายยมหินถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุและรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเสียหายทั้งคัน จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2536แต่เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2536 ก่อนทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์โอนขายรถยนต์คันที่เอาประกันภัยแก่นางมะพร้าว เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2537 โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ สัญญาประกันภัยจึงสิ้นผล จำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ทำสัญญารับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8ท – 9068 กรุงเทพมหานคร ไว้จากโจทก์มีอายุสัญญาระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2537 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.12 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า สัญญาประกันภัยมีผลผูกพันคู่ความโดยโจทก์ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยนั้นในขณะทำสัญญากับจำเลยหรือไม่และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า สัญญาประกันภัยที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยบริษัทผู้รับประกันภัยทำไว้ต่อกันตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 เห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่บริษัทจำเลยจัดทำขึ้นเป็นแบบพิมพ์ของบริษัทจำเลยโดยเฉพาะ มีชื่อบริษัทจำเลยอยู่บนหัวกระดาษแบบพิมพ์แผ่นแรก และจัดพิมพ์ข้อสัญญาต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า โดยโจทก์ไม่มีโอกาสเจรจาต่อรองให้ผิดเพี้ยนไปจากแบบพิมพ์ที่จำเลยทำไว้ได้เลย กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญา คงมีแต่ลายมือชื่อของกรรมการและผู้จัดการบริษัทจำเลยเท่านั้นกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่ฝ่ายจำเลยทำขึ้นและกรอกข้อความลงในแบบพิมพ์แต่ฝ่ายเดียว เหตุที่โจทก์ต้องเอาประกันภัยรถยนต์ในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันว่าเป็นเพราะโจทก์จะเช่าซื้อรถยนต์ที่เอาประกันภัยจากบริษัทยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัดตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งข้อ 7 แห่งสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องเอาประกันภัยทรัพย์สินที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่เช่าซื้อ โดยมอบเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการทำสัญญาให้เจ้าของคือบริษัทยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด นำไปทำสัญญาประกันไว้แทนกับบริษัทผู้รับประกันภัย โดยใส่ชื่อผู้เช่าซื้อเป็นผู้เอาประกันภัยและใส่ชื่อเจ้าของเป็นผู้รับประโยชน์ และไม่ว่าจะเอาประกันภัยเช่นใด ประเภทใด จำนวนเงินซึ่งเอาประกันจะต้องไม่น้อยกว่าจำนวนค่าเช่าซื้อซึ่งคงเหลืออยู่ แสดงว่าโจทก์จะเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากบริษัทยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ต่อเมื่อได้เอาประกันภัยรถยนต์ที่จะเช่าซื้อแล้ว ซึ่งหากถือเคร่งครัดตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวก็ต้องมีการทำสัญญาประกันภัยก่อนแล้วจึงมาทำสัญญาเช่าซื้อได้ ดังนี้ ย่อมทำให้โจทก์ไม่อยู่ในฐานะผู้เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยได้อยู่ในตัว การตีความสัญญาเช่าซื้อและสัญญาประกันภัยดังกล่าวไม่อาจตีความถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามสัญญาดังกล่าวได้แต่ต้องตีความการแสดงเจตนาทำสัญญานั้นโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาทุกฝ่าย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 เป็นสำคัญหากเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาเรื่องนี้แล้วจะเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยผู้รับประกันภัยเจตนาเข้ารับเสี่ยงภัยในรถยนต์ที่เอาประกันภัยโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถยนต์ของบริษัทยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ ทั้งนี้ เพราะบริษัทยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการทำสัญญาประกันภัยที่ได้รับจากโจทก์ไปทำสัญญาแทนโจทก์กับจำเลย และกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 ก็ระบุว่า โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยและบริษัทยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 7 ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่จำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้เช่าซื้อและมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยขณะทำสัญญา จึงเข้าทำสัญญาด้วยเพราะหากจำเลยไม่เชื่อเช่นนั้น จำเลยก็คงไม่เข้าทำสัญญาด้วยเพราะโจทก์อาจปฏิเสธไม่ส่งเบี้ยประกันภัยโดยอ้างว่าสัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ภายหลังได้ ทั้งโจทก์เองก็คงเชื่อเช่นนั้น เพราะการดำเนินการไปทำสัญญาประกันภัยโจทก์ต้องให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อไปทำแทนเมื่อโจทก์ผู้เช่าซื้อประสงค์จะผูกพันตามสัญญาประกันภัย จำเลยเองก็เจตนาจะเข้ารับเสี่ยงภัยตามสัญญาประกันภัยและบริษัทผู้ให้เช่าซื้อก็ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ แสดงให้เห็นว่าวัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษรไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.12 จะระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาเช่าซื้อหลังวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยเป็นเวลา 9 วัน ก็เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กรณีนี้ต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กระทำขึ้น ณ วันแรกที่โจทก์มีฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย ซึ่งการตีความเช่นนี้ยังสอดคล้องกับหลักการตีความสัญญาในกรณีที่มีข้อสงสัย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายที่จะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นด้วย โจทก์เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่ประสงค์จะเช่าซื้อรถยนต์แต่ไม่มีโอกาสต่อรองกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อและบริษัทผู้รับประกันภัยซึ่งได้จัดทำแบบฟอร์มของสัญญาและกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบที่จะตีความให้บริษัทผู้รับประกันภัยซึ่งเจตนาจะผูกพันตามสัญญาประกันภัยตั้งแต่แรกเพราะประสงค์จะได้เบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยกลับมาปฏิเสธไม่ยอมผูกพันตามสัญญาประกันภัยได้ภายหลังเมื่อมีเหตุให้บริษัทผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญาได้อีกดังที่จำเลยฎีกา กรณีถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยแล้วสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงผูกพันคู่ความทั้งสองฝ่าย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบริษัทยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อได้แสดงเจตนาเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว โจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจากจำเลยผู้รับประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญาโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปให้นางมะพร้าว ภริยาโจทก์ตามหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.13 ทำให้สัญญาประกันภัยสิ้นผลบังคับหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 หมวดที่ 1 ข้อ 1.13 จะระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้นางมะพร้าว ภริยาโจทก์ไปเพราะต้องการบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศเท่านั้น แต่หลังจากที่โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยและเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนี้เห็นได้ว่าโจทก์กับนางมะพร้าวภริยาโจทก์มิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง การโอนเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศได้เท่านั้น สัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริงตลอดมาและยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นอยู่เช่นเดิม กรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นผลบังคับโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัยได้ และแม้หากจะฟังว่าโจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป แต่การโอนสิทธิการเช่าซื้อก็ไม่ใช่การโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงยังไม่สิ้นผลบังคับไปดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

สรุป

วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษรไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาหลังวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยเป็นเวลา 9 วันก็เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กรณีนี้จึงต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กระทำขึ้น ณ วันแรกที่โจทก์ มี ฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย ซึ่งการตีความเช่นนี้ยังสอดคล้องกับหลักการตีความสัญญาในกรณีที่มีข้อสงสัย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายที่จะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นด้วยกรณีถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยแล้ว สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงผูกพันคู่ความทั้งสองฝ่าย เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัท ย. ผู้ให้เช่าซื้อได้แสดงเจตนาเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว โจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจากจำเลยผู้รับประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญา โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น แต่การที่โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้ พ. ภริยาโจทก์ไปเพราะต้องการบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศเท่านั้น แต่หลังจากที่โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยและเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์กับ พ. ภริยาโจทก์มิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง การโอนเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศได้เท่านั้น สัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังคงมีฐานะ เป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริงตลอดมาและยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นอยู่เช่นเดิม และแม้หากจะฟังว่าโจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป แต่การโอนสิทธิการเช่าซื้อก็ไม่ใช่การโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงยังไม่สิ้นผลบังคับไป