Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เขียนคำร้องอย่างประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายอย่างท่องแท้ ศาลรับฟังหรือไม่

เขียนคำร้องอย่างประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายอย่างท่องแท้ ศาลรับฟังหรือไม่

422
0

เขียนคำร้องอย่างประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายอย่างท่องแท้ ศาลรับฟังหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8878/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 283 ทวิ, 310, 318

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาว น. ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 283 ทวิ, 310 ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต

ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อความเสื่อมเสียเสรีภาพ และค่าเสียหายต่อชื่อเสียง เป็นเงิน 70,000 บาท

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 14 ปี คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีชายคนร้าย 1 คน พรากโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เยาว์ อายุ 15 ปีเศษ ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาผู้ปกครองดูแล โดยโจทก์ร่วมไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร และพาโจทก์ร่วมไปเพื่อการอนาจาร แล้วหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ร่วมไว้ภายในบ้านหรือขนำที่เกิดเหตุ โดยปิดประตูขังโจทก์ร่วมไม่ให้ออกจากบ้านหรือขนำ และข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมโดยใช้อวัยวะเพศของคนร้ายสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมเพื่อสนองความใคร่ 2 ครั้ง โดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ผลการตรวจร่างกายโจทก์ร่วม ไม่พบบาดแผลใดๆ ตรวจภายในพบรอยฉีกขาดของเยื่อพรหมจารี แผลหายแล้ว ไม่พบตัวอสุจิในช่องคลอด แพทย์ผู้ตรวจลงความเห็นว่า ไม่พบหลักฐานว่าเพิ่งผ่านการร่วมประเวณี ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ โจทก์ร่วมเป็นบุตรของผู้เสียหายที่ 2 กับนางกล้วยไม้ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536 ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์และสำเนาทะเบียนบ้าน แต่ขณะโจทก์ร่วมอายุประมาณ 13 ปี นางกล้วยไม้ถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายที่ 2 มีนางมะนาว เป็นภริยาคนใหม่ โจทก์ร่วมจึงพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 และนางมะนาวมารดาเลี้ยงที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของนางแคแสด มารดาของผู้เสียหายที่ 2

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมในชั้นพิจารณา คำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วม ร่องรอยการตรวจช่องคลอดของโจทก์ร่วม ประกอบกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยพรากโจทก์ร่วมไปจากผู้เสียหายที่ 2 และขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยพาโจทก์ร่วมไปเพื่อการอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนกระทำชำเราตามฟ้องจริง ส่วนปัญหาที่ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 โดยระบุในคำร้องว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในการกระทำความผิดต่อร่างกาย จิตใจ เสื่อมเสียเสรีภาพ และชื่อเสียง เป็นจำนวนเงิน 70,000 บาท เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าสินไหมทดแทนที่ตนเองได้รับความเสียหายในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโจทก์ร่วม มีความหมายเท่ากับความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ร่วมถูกกระทบกระเทือนทำนองเดียวกับเสรีภาพของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย แต่ได้เขียนคำร้องในฐานะประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายถ่องแท้ จึงเขียนทำนองเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนโจทก์ร่วม ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนตามมาตรา 44/1 วรรคสอง จะถือเป็นความผิดของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ เมื่อพิจารณาคำร้องแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 2 ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 70,000 บาท คดีนี้แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาเรียกค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 แต่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 โดยที่มาตรา 44/1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญามีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญาเพื่อให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ต้องไปยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่ง คำร้องดังกล่าวคงมีเฉพาะผู้เสียหายที่ 2 ระบุจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเท่านั้น ซึ่งถือเป็นคำบังคับ ส่วนสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องอาศัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของพนักงานอัยการเป็นหลัก หากคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้อง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ผู้เสียหายที่ 2 ก็จะไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน แต่หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องของพนักงานอัยการก็จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และมาตรา 44/1 บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย…ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” ซึ่งมาตรา 44/1 มีความหมายทำนองเดียวกับมาตรา 43 เมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยก็มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหาย และหากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์โดยไม่คำนึงว่าพนักงานอัยการจะอุทธรณ์ฎีกาคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่อาจนำกฎหมายวิธีสบัญญัติเรื่องอุทธรณ์ฎีกามาตัดสิทธิของผู้เสียหายที่ 2 ทั้งปัญหาตามมาตรา 44/1 เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีในส่วนคดีอาญาไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 70,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

สรุป

ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในการกระทำความผิดต่อร่างกาย จิตใจ เสื่อมเสียเสรีภาพและชื่อเสียง เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวฟังได้เบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าสินไหมทดแทนที่ตนเองได้รับความเสียหายในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโจทก์ร่วม มีความหมายเท่ากับความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ร่วมถูกกระทบกระเทือนทำนองเดียวกับเสรีภาพของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย แต่ได้เขียนคำร้องในฐานะประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายถ่องแท้ จึงเขียนทำนองเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนโจทก์ร่วม ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนตามมาตรา 44/1 วรรคสอง จะถือเป็นความผิดของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ ทั้งปัญหาตามมาตรา 44/1 เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนด ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้