กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 889 ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11711/2554

เงินเบี้ยประกันชีวิตที่ ม. ผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับชำระจาก ม. มาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับ ม. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ ม. ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความหมายใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินไปชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน
แม้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง

สรุป

เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินเวนคืนกรรมธรรม์จะตกเป็นของแผ่นดิน

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716