Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ได้รับเงินค่าเสียหายในคคีดอาญาแล้ว ถือเป็นการสละสิทธิทางแพ่งหรือไม่

ได้รับเงินค่าเสียหายในคคีดอาญาแล้ว ถือเป็นการสละสิทธิทางแพ่งหรือไม่

260
0

ได้รับเงินค่าเสียหายในคคีดอาญาแล้ว ถือเป็นการสละสิทธิทางแพ่งหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526/2558

โจทก์ทั้งสองร่วมกันฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 535,000 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 430,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กันยายน 2555) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กันยายน 2555) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเทียนหอม ผู้ตาย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ถฮ 4608 กรุงเทพมหานคร มีความคุ้มครอง 2 กรมธรรม์ ฉบับแรกเป็นการประกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในส่วนความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายเป็นเงิน 200,000 บาท ฉบับที่ 2 เป็นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 คุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตร่างกายเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไม่เกิน 500,000 บาท ต่อคน ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเดียวกัน กรมธรรม์คุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัยเฉพาะส่วนที่เกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไม่เกิน 500,000 บาท ต่อคน ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับประกันภัยเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ตน 9638 กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ตายเป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2621/2556 ของศาลชั้นต้น ในคดีอาญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง 50,000 บาท ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าเมื่อโจทก์ทั้งสองแถลงต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาคดีว่า ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 50,000 บาท ในคดีอาญาแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 อีก จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ จึงหลุดพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งได้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงภายในขอบแห่งความรับผิดของลูกหนี้แต่ละคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ถฮ 4608 กรุงเทพมหานคร จึงต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 อีก จึงหาใช่โจทก์ทั้งสองสละสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

แม้โจทก์ทั้งสองแถลงต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาคดีว่า ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 50,000 บาท ในคดีอาญาแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 อีก แต่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งได้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเลือก ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงภายในขอบแห่งความรับผิดของลูกหนี้แต่ละคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ จึงต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อโจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 อีก จึงหาใช่โจทก์ทั้งสองสละสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ไม่