สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา ไม่มีใบขับขี่ขณะเกิดอุบัติเหตุ แต่ต่างฝ่ายต่างประมาทจะเรียกร้องคู่กรณีได้หรือไม่ เชิญอ่านได้เลยครับ

ใบขับขี่ หรือ ใบอนุญาตขับขี่ คือ เอกสารสำคัญสำหรับผู้ใช้รถยนต์ ว่าสามารถใช้งานรถอะไรได้บ้างตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถรับจ้าง เป็นต้น หรือจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ ใบขับขี่ คือ ใบอนุญาตให้คุณสามารถขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือ รถประเภทอื่นๆ ตามที่ได้รับอนุญาต หากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แล้วกระทำการขับขี่จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.จราจรทางบก

สำหรับใบอนุญาตขับขี่นั้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ประกอบไปด้วย

1. ประเภทส่วนบุคคล
ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภทส่วนบุคคล จะใช้สำหรับรถในการขนส่งส่วนบุคคล รถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวเลข และตัวอักษรสีดำ

2. ประเภททุกประเภท
ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภททุกประเภท จะใช้สำหรับรถสาธารณะ รถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีเหลือง ซึ่งใบอนุญาตขับรถประเภททุกประเภทนั้น สามารถใช้ทดแทน ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภทส่วนบุคคล และใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้

ส่วนชนิดของใบขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มีอีกเยอะแยะมากมาย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 223 ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 442 ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2548

โจทก์เป็นบิดาของ ป. โจทก์ยอมให้ ป. ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะออกไปตามถนนสาธารณะ เป็นการเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถือว่าโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์จึงต้องร่วมกับ ป. รับผิดในผลที่ ป. ทำละเมิดต่อจำเลยด้วย
การที่โจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดในผลของการกระทำละเมิดต่อกันเพียงใดนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบด้วย มาตรา 223 ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ เมื่อต่างฝ่ายต่างทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน โจทก์และจำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้
จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยเอาประกันภัยไว้ และจะต้องรับผิด ก็ต่อเมื่อจำเลยผู้เอาประกันต้องรับผิด เมื่อโจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เช่นกัน

กล่าวโดยสรุป

เมื่อต่างฝ่ายต่างทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน โจทก์และจำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้

iber.me/tanai-athip

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935