#อุปกรณ์แต่งรถยนต์
ประเด็น: ประกันรถยนต์คุ้มครองอุปกรณ์แต่งรถยนต์ด้วยหรือไม่

…หลายคนเมื่อซื้อรถยนต์มาใช้งานก็ได้มีการติดตั้งอะไหล่ตกแต่งเพิ่มเติมในรถยนต์ อุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติมนี้จะถือเป็นส่วนขยายของรถยนต์ที่เจ้าของรถยนต์เลือกซื้อเพิ่มเติมเพราะต้องการความสวยงาม ต้องการให้รถของเราไม่เหมือนใครเป็นเอกลักษณ์ ต้องการความแรงและความเร็วที่มากขึ้น สำหรับอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติมรถยนต์ที่คนฮิตไปทำเพิ่มกันก็อย่างเช่น ชุดแต่งรถรอบคัน ล้อแม็ก ไฟหน้า กันชนหน้า กันชนหลัง ติดสติ๊กเกอร์สีที่ตัวถังรถยนต์ เทอร์โบ เบาะนั่ง เครื่องเสียง เป็นต้น #ซึ่งมีคำถามตามมาว่าประกันภัยรถยนต์ให้ความคุ้มครองในอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติมเหล่านี้ด้วยหรือไม่ หากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายขึ้น…

#อุปกรณ์ เครื่องตกแต่งรถยนต์ ตามความหมายของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.มีความหมายว่าอย่างไร ได้ให้ไว้ในคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2552 ที่ให้ใช้เป็นคู่มือตีความประกันภัยรถยนต์บังคับใช้ควบคู่กับกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับว่า…

#อุปกรณ์ มีความหมายถึง สิ่งจำเป็นที่ใช้ควบคู่ไปกับตัวรถยนต์ ซึ่งโดยสภาพปกตินั้นมีไว้เพื่อประโยชน์ต่อการใช้รถ และเก็บไว้เพื่อใช้ประจำอยู่ที่รถ เช่น แม่แรง ยางอะไหล่ เป็นต้น…

#เครื่องตกแต่ง มีความหมายถึง สิ่งที่ตกแต่งเป็นมาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถยนต์โดยโรงงานประกอบรถยนต์หรือศูนย์จำหน่ายรถยนต์ #และให้รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งที่ได้ทำเพิ่มขึ้นและผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบด้วยแล้ว ย้ำนะครับว่าต้องแจ้งให้บริษัททราบเป็นสำคัญ…

…ตัวอย่าง ศูนย์บริการรถยนต์ได้มีการตกแต่งรถยนต์ในแต่ละรุ่นเพิ่มเติมเป็นมาตรฐาน คือแต่งมาจากศูนย์นั่นเอง เพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย โดยกำหนดราคาขายอยู่ที่ 900,000 บาท นายเก่ง ได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวและแจ้งทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัทประกันภัย A ต่อมาได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์เสียหลักลงข้างทาง จมน้ำได้รับความเสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องตกแต่งนั้นจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย A ครับ…

…แต่หากเมื่อนายเก่งได้ซื้อรถยนต์มาแล้ว ภายหลังได้ทำการตกแต่งเปลี่ยนเครื่องเสียงจากเครื่องเสียงติดรถจากโรงงานราคา 10,000 บาท มาเป็นเครื่องเสียงราคา 50,000 บาท #แล้วไม่ได้แจ้งให้บริษัทประกันภัยAทราบ เมื่อเกิดเหตุรถจมน้ำเครื่องตกแต่งเสียหาย เช่นนี้ เครื่องเสียงที่ติดตั้งใหม่จะได้รับความคุ้มครองแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ครับ…

…ดังนั้น ในกรณีที่รถยนต์ของเรามีการติดตั้งอะไหล่ตกแต่งเพิ่มเติมนี้เรา ต้องแจ้งบริษัทที่เราทำประกันภัยอยู่ด้วยทันที ว่าเรามีการติดตั้งอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมในรถยนต์ของเราไปบ้าง หากมีการแจ้งไว้ก่อนและบริษัทประกันมีการบันทึกข้อมูลเรื่องชุดแต่งเพิ่มเติมรถยนต์ของเราไว้ หากเกิดอุบัติเหตุและความเสียหายขึ้น บริษัทประกันก็จะรับผิดชอบ…

…แต่หากเราไม่แจ้งก่อนเมื่อเกิดเหตุความเสียหายขึ้น บริษัทประกันมีสิทธิปฏิเสธไม่รับผิดชอบในส่วนของอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติมนี้ได้ครับ แต่การแจ้งการติดตั้งอุปกรณ์แต่งรถสวยเพิ่มเติมเหล่านี้ก็จะมีผลทำให้ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ของเราสูงขึ้นไปด้วยนะครับ…

…เพราะบริษัทประกันก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมที่หากเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายขึ้น บริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบเพิ่มเติม…

………………. #ปัญหาต่อไปมีว่า…ในกรมธรรม์บางฉบับเขียนว่า คุ้มครองอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติมไม่เกิน 20,000 บาท/ครั้ง หมายความว่าอย่างไร(ลองหยิบกรมธรรม์ของตัวเองมาดูนะครับมีหรือเปล่า)….

#ผมขอฟันธงเลยครับว่า คือการคุ้มครอง อุปกรณ์และเครื่องตกแต่งที่ คปภ.ให้ความหมายตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2552 ด้านบนครับว่า

#อุปกรณ์ มีความหมายถึง สิ่งจำเป็นที่ใช้ควบคู่ไปกับตัวรถยนต์ ซึ่งโดยสภาพปกตินั้นมีไว้เพื่อประโยชน์ต่อการใช้รถ และเก็บไว้เพื่อใช้ประจำอยู่ที่รถ เช่น แม่แรง ยางอะไหล่ เป็นต้น…

#เครื่องตกแต่ง มีความหมายถึง สิ่งที่ตกแต่งเป็นมาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถยนต์โดยโรงงานประกอบรถยนต์หรือศูนย์จำหน่ายรถยนต์ #และให้รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งที่ได้ทำเพิ่มขึ้นและผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบด้วยแล้ว

เครื่องตกแต่งจากโรงงานหรือศูนย์บริการไม่ค่อยมีปัญหาครับ จะมีปัญหาคือที่ #เจ้าของรถไปตกแต่งเพิ่มเติมภายหลังทำประกันมาแล้วไม่แจ้งบริษัทประกัน แล้วรถยนต์เกิดเหตุนำเครื่องตกแต่งนั้นมาเคลม ถามว่าเคลมได้หรือไม่ ตอบเลยครับว่า #เคลมไม่ได้ เพราะว่าไปติดตั้งเพิ่มไม่ได้แจ้งบริษัทประกัน จึงไม่ใช่วัตถุเอาประกันภัย แต่บริษัทอาจเคลมให้ในราคาโรงงานเท่านั้น เช่น ไฟหน้าโปรเจคเตอร์แต่ง คู่ละ 20,000 บาท แต่ราคาโรงงาน 4,000 บาท ก็เคลมได้ที่ 4,000 บาท ไม่ใช่ 20,000 บาทครับ

อาจจะมีคนหัวหมอบอกว่า ก็กรมธรรม์ลงไว้ 20,000 บาทต้องจ่าย 20,000บาทสิครับ ก็บอกได้เลยว่าตอนทำประกันไฟโปรเจ๊คเตอร์ไม่มีไงครับ คือ ไม่ได้ทำประกันไฟโปรเจคเตอร์ไว้นั่นเอง (เคลมได้ยังไง)และไม่ได้แจ้งทำประกันเก็บเบี้ยเพิ่ม เลยจ่าย 20,000 บาทไม่ได้ (เบี้ยไม่จ่ายเพิ่มด้วย)

ส่วนว่า 20,000บาท ที่ลงไว้ในกรมธรรม์นั้น หมายถึง #วงเงินที่คุ้มครองอุปกรณ์ตกแต่งจากโรงงานหรือที่แจ้งให้บริษัททราบแล้ว บริษัทจะจ่ายให้ตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง

เรื่องนี้ไม่ยากเกินจะเข้าใจนะครับ และลูกค้าผู้เอาประกันก็ต้องดูว่าตนเองมีสิทธิแค่ไหน ส่วนบริษัทประกันเองก็ดูว่าตัวเองจ่ายถูกหลักเกณฑ์หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าอุปกรณ์ตกแต่งราคาไม่เกิน 20,000 บาทจ่ายเลย โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าความคุ้มครองมีแค่ไหน การใช้สิทธิหน้าที่ ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องตามสัญญานะครับ

#ทุกวันนี้มีคนบางคนไปตีความเอาเอง กันแบบไม่มีหลักว่า อุปกรณ์ตกแต่งที่ติดตั้งภายหลังความคุ้มครองและไม่แจ้งบริษัทประกันภัยทราบแล้วด้วย เคลมได้ไม่เกิน 20,000 บาทในอุบัติเหตุแต่ละครั้ง การตีความแบบนี้ไม่ถูกต้องครับถือว่าไม่เข้าใจหลักการประกันวินาศภัยอย่างแท้จริง เมื่อไม่ได้ทำประกันไว้(#ไม่ใช่วัตถุเอาประกันภัยที่กรมธรรม์คุ้มครอง)จะเคลมได้ยังไงล่ะ

ถ้ามีการเคลมลักษณะนี้ สำหรับอุปกรณ์ตกแต่งมาตรฐานโรงงาน บริษัทประกันภัยจ่ายในราคามาตรฐานเท่านั้นครับ แต่ถ้าชิ้นส่วนไหนไม่ใช่อุปกรณ์มาตรฐานโรงงาน ก็ไม่ต้องจ่ายครับ อย่าเข้าใจผิดและโปรดดูว่าท่านทำถูกหลักเกณฑ์หรือเปล่าครับ ทั้งลูกค้าและบริษัทประกันภัย

บทความนี้อาจยาวไปหน่อยครับ ผมอยากสรุปสั้นๆว่า สิ่งไหนเป็นของท่านก็สมควรได้มัน ถ้าไม่ใช่ก็ไม่สมควรได้ เท่านั้นแหละครับ

Athip Schumjinda
4/1/2020