Home แรงงาน กรณีลูกจ้างยื่นคำร้องต่อ จพง.ตรวจแรงงาน ขณะเดียวกันจะยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานได้อีกหรือไม่ อย่างไร?

กรณีลูกจ้างยื่นคำร้องต่อ จพง.ตรวจแรงงาน ขณะเดียวกันจะยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานได้อีกหรือไม่ อย่างไร?

791
0

กรณีลูกจ้างยื่นคำร้องต่อ จพง.ตรวจแรงงาน ขณะเดียวกันจะยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานได้อีกหรือไม่ อย่างไร?

มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้ครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2561

แม้จะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าเมื่อลูกจ้างได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะไม่มีสิทธิยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานอีก

แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึง มาตรา 125 เป็นกระบวนการทางเลือกซึ่งเมื่อลูกจ้างเลือกดำเนินการโดยยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะต้องดำเนินการไปจนเสร็จสิ้น บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว

ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่ง โจทก์ต้องนำคดีไปสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

แต่โจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแม้จะอ้างคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมาด้วย แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามากกว่าที่ได้รับตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แสดงว่าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

คำฟ้องโจทก์จึงมิใช่การฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 เช่นนี้ สภาพคำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องโดยอาศัยสิทธิเดิม

ทั้งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอาศัยสิทธิเดียวกับที่ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในเงินดังกล่าวอีก

สรุป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ เมื่อลูกจ้างยื่นคำร้องต่อ จพง.ตรวจแรงงาน แล้ว จะใช้สิทธิฟ้องคดีแรงงาน ไปด้วยพร้อมกันไม่ได้ ต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งครับ

มีปัญหาคดีติดต่อ

ทนายอธิป 091 712 7444