Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ กรมธรรม์ประกันเจตนาให้ผู้รับผลประโยชน์ โดยไม่แบ่งทายาทโดยธรรมสามารถทำได้หรือไม่

กรมธรรม์ประกันเจตนาให้ผู้รับผลประโยชน์ โดยไม่แบ่งทายาทโดยธรรมสามารถทำได้หรือไม่

278
0

กรมธรรม์ประกันเจตนาให้ผู้รับผลประโยชน์ โดยไม่แบ่งทายาทโดยธรรมสามารถทำได้หรือไม่

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,850,770 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นาง ก. ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ส. ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,850,770 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องสอด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 นำเงินค่าสินไหมทดแทน 10,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 วางไว้ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ 2 มาวางต่อศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 10,850,770 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มกราคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ให้ยกคำร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ (ที่ถูก โจทก์ทั้งสอง) กับผู้ร้องสอดให้เป็นพับ

ผู้ร้องสอดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องสอดฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เดิมชื่อนางสาวจิตรวดี อยู่กินฉันสามีภรรยากับนาย ส. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ โจทก์ที่ 2 และเด็กหญิงณัฐปภัสร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 นาย ส. ยื่นคำขอเอาประกันภัยกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้บริหารวงเงินคุ้มครอง 10,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ผ่านธนาคาร นายหน้าประกันภัย โดยช่องผู้รับผลประโยชน์ หลังข้อความว่า อื่น ๆ (โปรดระบุ) ระบุชื่อโจทก์ทั้งสอง ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นภรรยาและลูก จากนั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับผู้บริหารให้แก่นาย ส. ระบุผู้รับประโยชน์ คือ ทายาทตามกฎหมาย ระยะเวลาคุ้มครองระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2559 ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ในระหว่างระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย นาย ส.ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนถึงแก่ความตาย นาย ส. มีทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย 6 คน คือ ผู้ร้องสอด นางสาววิไล นายลี นางสาวณัฏฐาภรณ์ โจทก์ที่ 2 และเด็กหญิงณัฐปภัสร์ โจทก์ทั้งสองขอรับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ใบคำขอเอาประกันภัยและตารางกรมธรรม์ประกันภัยระบุผู้รับประโยชน์ไม่ตรงกัน วันที่ 19 กันยายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ส. หลังจากนั้นวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องสอดมีหนังสือขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์แก่ผู้ร้องสอด ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ส. ตามคำสั่งศาล เพื่อนำไปแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย วันที่ 19 มิถุนายน 2560 จำเลยที่ 1 นำเงินค่าสินไหมทดแทน 10,000,000 บาท ไปวางที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยที่ 2 อ้างว่า กรมธรรม์ระบุผู้รับประโยชน์ขัดแย้งกัน จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ได้ จึงขอวางเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงมารับไป ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 นำเงินค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 1 วางไว้ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตดังกล่าวมาวางต่อศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองจึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ยุติไปโดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องสอดได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ต้องใช้เงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุพิพาทให้แก่บุคคลใด ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ใบคำขอเอาประกันภัยเป็นเพียงคำเสนอของนาย ส. มิใช่สัญญาประกันภัย ไม่อาจนำมาบังคับจำเลยที่ 1 ได้ นาย ส. มีเจตนาให้ทายาทโดยธรรมเป็นผู้รับประโยชน์ จึงมิได้เลือกช่องสี่เหลี่ยมระบุให้บุคคลใดเป็นผู้รับประโยชน์ในคำขอเอาประกันภัย ซึ่งการไม่ระบุเลือกผู้รับประโยชน์จะมีผลให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินผลประโยชน์แก่ทายาทตามกฎหมาย แต่โจทก์ที่ 1 มากรอกข้อความระบุโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเอง ทั้งการระบุเฉพาะโจทก์ที่ 2 โดยไม่ระบุเด็กหญิง ณ. บุตรอีกคนหนึ่งด้วยก็เป็นข้อพิรุธว่านาย ส. มิได้เจตนาให้กรอกข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับประโยชน์เพิ่มเติม ในการทำกรมธรรม์ประกันภัยหลายฉบับนาย ส. ใช้ที่อยู่หลายแห่งแตกต่างกัน แต่นาย ส. ก็ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับ แสดงว่านาย ส. ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วและรู้ว่าจำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์ประกันภัยระบุทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ นับตั้งแต่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลคุ้มครองเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ซึ่งนาย ส. ถึงแก่ความตายนานถึง 330 วัน นาย ส. ไม่เคยขอแก้ไขเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันภัยเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์แสดงว่ากรมธรรม์ประกันภัยระบุทายาทโดยธรรมเป็นผู้รับประโยชน์ตรงกับเจตนาของนาย ส. นั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับผู้บริหาร ระบุความตอนต้นว่า โดยการเชื่อถือข้อแถลงในใบคำขอเอาประกันภัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยนี้และเพื่อเป็นการตอบแทนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระภายใต้ข้อบังคับ เงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด ข้อตกลงคุ้มครอง ข้อยกเว้น และเอกสารแนบท้ายแห่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้ บริษัทให้สัญญากับผู้ได้รับความคุ้มครองเช่นนี้ แม้คำขอเอาประกันภัยจะเป็นคำเสนอของผู้เอาประกันภัยดังผู้ร้องสอดฎีกา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาออกกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จำเลยที่ 1 ระบุโดยชัดแจ้งให้ถือเอาข้อแถลงในคำขอเอาประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัย ข้อความที่ระบุไว้ในคำขอเอาประกันภัยจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า ใบคำขอเอาประกันภัย ส่วนที่ระบุเกี่ยวกับผู้รับประโยชน์ แบ่งเป็น 2 ช่องให้ผู้เอาประกันภัยทำเครื่องหมายเลือก ช่องแรกระบุว่า ทายาทตามกฎหมาย ไม่ปรากฏการขีดฆ่าหรือทำเครื่องหมายเลือกในช่องดังกล่าว ส่วนช่องที่สอง ระบุว่า อื่นๆ (โปรดระบุ) ไม่ปรากฏการขีดฆ่าหรือทำเครื่องหมายเลือกเช่นเดียวกันกับช่องแรก แต่ท้ายช่องดังกล่าว โจทก์ที่ 1 กรอกข้อความระบุชื่อโจทก์ทั้งสอง และระบุความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยว่าเป็นภรรยาและลูกตามลำดับ ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับผู้บริหารซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้แก่นาย ส. ระบุผู้รับประโยชน์ว่า ทายาทตามกฎหมาย โดยโจทก์ทั้งสองมีโจทก์ที่ 1 และ นายมานะ ผู้จัดการทีมการตลาดธนาคาร ผู้เสนอขายประกันภัยให้แก่นาย ส. เป็นพยานเบิกความว่านาย ส. ประสงค์ให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท นายมานะเป็นผู้เดินทางไปพบนาย ส. กับโจทก์ที่ 1 ที่บ้านเพื่อทำคำขอเอาประกันภัยดังกล่าว โจทก์ที่ 1 เป็นผู้กรอกข้อความในคำขอเอาประกันภัยโดยความยินยอมของนาย ส. แล้วให้นาย ส. ลงลายมือชื่อ จากนั้นนายมานะ ส่งมอบสำเนาใบคำขอเอาประกันภัยให้แก่นาย ส. ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาไว้ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้แก่นาย ส. ในภายหลังเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ระบุที่อยู่ของนาย ส. ผิดพลาดไม่ตรงกับคำขอเอาประกันภัย คือ จากบ้านเลขที่ 90/58 เป็นบ้านเลขที่ 99/58 นาย ส. และโจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว นาย ส. จึงไม่มีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องของการระบุชื่อผู้รับประโยชน์ และนอกจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแล้ว นาย ส. ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทอื่น ๆ อีกหลายบริษัท ได้แก่ บริษัท ม. 2 กรมธรรม์ บริษัท ก. 2 กรมธรรม์ บริษัท อ. และบริษัท พ. ซึ่งล้วนระบุโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์แต่ผู้เดียวโดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ระบุรายละเอียดในคำขอเอาประกันภัยทุกฉบับ โดยความยินยอมของนาย ส. แล้วนาย ส. ลงลายมือชื่อ ส่วนผู้ร้องสอดมีนายศักดิ์ชาย พี่ชาย นาย ส. บุตรผู้ร้องสอด เป็นพยานเบิกความว่า ภายหลังนาย ส. ถึงแก่ความตาย พยานและผู้ร้องสอดค้นหากรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุของนาย ส. จนพบกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท วันที่ 27 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องสอดมีหนังสือเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินผลประโยชน์ 10,000,000 บาท แต่เมื่อพิจารณาเอกสารที่ผู้ร้องสอดนำสืบกลับปรากฏว่า ผู้ร้องสอดมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยของนาย ส. รวม 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ผู้ร้องสอดมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอให้ตรวจสอบความถูกต้องและส่งมอบกรมธรรม์ของนาย ส. ที่ทำไว้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อจัดการมรดก แม้หนังสือดังกล่าวระบุสำเนากรมธรรม์ประกันภัยเป็นสิ่งที่ส่งมาด้วย 4. แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใด ไม่ชัดเจนว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทหรือไม่ ส่วนครั้งที่สอง วันที่ 27 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องสอดมีหนังสือเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท จำนวนเงิน 10,000,000 บาท หากผู้ร้องสอดพบกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทตั้งแต่แรก ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ร้องสอดจะมีหนังสือสอบถามจำเลยที่ 1 โดยไม่ระบุเรียกร้องเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทเสียในชั้นแรก กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาอีก 1 เดือน จึงเรียกร้องเงินผลประโยชน์อันจะทำให้การได้รับเงินผลประโยชน์ล่าช้ายิ่งขึ้น ที่พยานผู้ร้องสอดอ้างว่า พยานกับผู้ร้องสอดพบกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแล้ว จึงมีข้อพิรุธและไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่านาย ส. ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับที่ทำขึ้น แม้มีการระบุที่อยู่แตกต่างกันนั้น ทางนำสืบคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ปรากฏว่าที่อยู่ของนาย ส. ซึ่งจำเลยที่ 1 ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท บ้านเลขที่ 99/58 เกี่ยวข้องกับนาย ส. อย่างไร ไม่อาจรับฟังว่านาย ส. ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทด้วยการส่งไปยังที่อยู่อันถูกต้อง และที่ผู้ร้องสอดฎีกาต่อมาว่านาย ส. ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจากนายหน้าประกันภัยแล้ว ทางนำสืบคู่ความทุกฝ่ายก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดยืนยันว่ามีการส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่นาย ส. ผ่านนายหน้าประกันภัยเช่นเดียวกัน ข้อที่ผู้ร้องสอดอ้างว่านาย ส. ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแล้วไม่เคยเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ตามที่กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทระบุว่าเป็นทายาทตามกฎหมายแสดงว่านาย ส. มีเจตนาให้ทายาทโดยธรรมได้รับเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่พยานโจทก์ทั้งสองนำสืบว่านาย ส. ไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทที่จำเลยที่ 1 ออกให้ จึงมิได้ตรวจสอบและแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มีข้อพิจารณาต่อไปว่า การที่กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทระบุผู้รับประโยชน์เป็นทายาทตามกฎหมายจากข้อมูลที่นายหน้าประกันภัยแจ้งมามีผลผูกพันหรือไม่ แม้จำเลยที่ 1 พิจารณาเข้ารับประกันภัยอุบัติเหตุให้แก่นาย ส. จากข้อมูลคำขอเอาประกันภัยที่ได้รับแจ้งจากนายหน้าประกันภัยว่า ผู้รับประโยชน์ให้แก่ทายาทตามกฎหมาย แต่ทางนำสืบผู้ร้องสอดไม่ปรากฏว่าในกรณีที่มีการระบุผู้รับประโยชน์เป็นโจทก์ทั้งสองแทนการระบุผู้รับประโยชน์เป็นทายาทตามกฎหมายนั้น จำเลยที่ 1 จะพิจารณาไม่รับประกันภัยหรือเรียกเบี้ยประกันเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่อย่างไร ทั้ง นายสมพงษ์. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจังหวัดภูเก็ต พยานผู้ร้องสอดก็เบิกความว่า ผู้รับประโยชน์ไม่ใช่เงื่อนไขในการทำประกันภัย เมื่อการระบุผู้รับประโยชน์มิใช่เงื่อนไขสำคัญในการที่จำเลยที่ 1 จะพิจารณาเข้ารับเสี่ยงภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันภัยไปตามที่ได้รับแจ้งจากนายหน้าประกันภัยจึงมิใช่สาระสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่เจตนาของนาย ส. ว่าประสงค์ให้บุคคลใดเป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้นการที่กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทระบุผู้รับประโยชน์เป็นทายาทตามกฎหมายจะมีผลผูกพันหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการระบุตรงกับเจตนาของนาย ส. หรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้นายศักดิ์ชาย พยานผู้ร้องสอดเบิกความว่า ขณะโจทก์ที่ 1 กรอกข้อความในคำขอเอาประกันภัยโดยความยินยอมของนาย ส. โจทก์ที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทตามกฎหมาย หากโจทก์ที่ 1 ทำเครื่องหมายเลือกในช่อง อื่นๆ และระบุชื่อโจทก์ที่ 1 ลงไป นาย ส. คงไม่ยินยอม เพราะนาย ส. เคยแจ้งพยานว่านาย ส. จะทำประกันภัยให้ผู้ร้องสอด และบุตรทุกคนเป็นผู้รับประโยชน์ แสดงว่านาย ส. ต้องการระบุในคำขอเอาประกันภัยให้เฉพาะทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์เท่านั้น ส่วนข้อความระบุชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับประโยชน์เป็นการเขียนขึ้นเองในภายหลัง ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์จากทายาทตามกฎหมายเป็นโจทก์ทั้งสอง เห็นว่านาย ส. มีทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย 6 คน และยังอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1 โดยไม่จดทะเบียนสมรส นาย ส. ย่อมทราบว่าหากตนถึงแก่ความตายจะเกิดข้อขัดข้องในการรับเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน หากนาย ส. ประสงค์ให้เฉพาะทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท นาย ส. ย่อมต้องทำเครื่องหมายเลือกช่องทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งชัดเจนกว่าการไม่เลือกระบุผู้รับประโยชน์ใด ๆ อันอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งกันในระหว่างผู้เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้หากโจทก์ที่ 1 กรอกข้อความระบุผู้รับประโยชน์เป็นโจทก์ทั้งสองเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง โดยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์ที่ 1 ย่อมต้องทำเครื่องหมายเลือกช่อง อื่นๆ หรือขีดฆ่าช่องทายาทตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองยิ่งกว่าการไม่ทำเครื่องหมายใด ๆ อันอาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งตามมาในภายหลังเช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นโจทก์ที่ 2 เป็นทายาทตามกฎหมายของนาย ส. หากนาย ส. มีเจตนาให้ทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์แล้วโจทก์ที่ 1 กรอกข้อความในคำขอเอาประกันภัยเพิ่มเติมเสียเองก็น่าจะกรอกข้อความระบุเพิ่มเฉพาะโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องระบุโจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับประโยชน์เพิ่มให้ซ้ำซ้อนกับผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมายอีก ทั้งได้ความว่าสัญญาประกันชีวิตที่นาย ส. ทำไว้กับบริษัทอื่น ๆ อีกหลายฉบับล้วนระบุโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์แต่ผู้เดียวทั้งสิ้น ข้อพิรุธต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดกรอกข้อมูลในคำขอเอาประกันภัยที่ผู้ร้องสอดนำสืบและฎีกามาล้วนมีลักษณะเป็นเพียงความเห็นของพยานและผู้ร้องสอด ไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ สนับสนุน พยานของผู้ร้องสอดในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานผู้ร้องสอด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านาย ส. ทำคำขอเอาประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท โดยมีเจตนาให้เฉพาะโจทก์ทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้รับประโยชน์ มิได้มีเจตนาให้ทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย การจ่ายเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวย่อมเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.8 ที่ระบุว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถระบุชื่อผู้รับประโยชน์ได้ เมื่อผู้ได้รับความคุ้มครองเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ใด ๆ ภายใต้ข้อกำหนดกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุนั้น หากมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่กองมรดกของผู้ได้รับความคุ้มครอง เมื่อพิจารณาประกอบกับความตอนต้นแห่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุให้คำขอเอาประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่นาย ส. โดยระบุทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ไม่ตรงกับเจตนาของนาย ส. และไม่เป็นไปตามข้อสัญญาดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทส่วนที่ระบุผู้รับประโยชน์เป็นทายาทตามกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับและไม่ผูกพันในการกำหนดผู้รับประโยชน์เช่นนั้น กรมธรรม์ประกันภัยส่วนที่กำหนดผู้รับประโยชน์ย่อมต้องถือตามที่ระบุในคำขอเอาประกันภัยของ นาย ส. จำเลยที่ 1 ต้องใช้เงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ