Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ค่าเสียหายเบื้องต้นในความรับผิดตามพรบ. ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ค่าเสียหายเบื้องต้นในความรับผิดตามพรบ. ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

427
0

ค่าเสียหายเบื้องต้นในความรับผิดตามพรบ. ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของนางทิพวรรณ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จัดตั้งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเฉพาะการประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จำเลยรับประกันภัยรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไว้จากนางทิพวรรณเจ้าของกรรมสิทธิ์ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2561 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 นางทิพวรรณขับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่มีนายทินกรเป็นคนขับ เป็นเหตุให้นางทิพวรรณถึงแก่ความตาย โดยรถจักรยานยนต์ ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าตาฝั่งรับเป็นคดีจราจรโดยกล่าวหาว่านายทินกรเป็นฝ่ายประมาท แต่สรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากนายทินกรถึงแก่ความตาย จำเลยชำระค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาท ให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมหลังจากนั้นโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้นอีก 265,000 บาท แต่จำเลยปฏิเสธ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 3.1.7 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุหรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยจะอ้างข้อสัญญาดังกล่าวเพื่อจำกัดความรับผิดของตนเองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นจึงมีได้เพียงสองกรณี คือ (1) ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือ (2) ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ในอุบัติเหตุนั้น ซึ่งตามกรมธรรม์ฯ ข้อ 17 กำหนดว่า ความหมายและเจตนารมณ์ของข้อความที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ รวมทั้งเอกสารแนบท้ายและเอกสารประกอบให้ตีความตามที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้ และจำเลยได้อ้างส่งคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2552 ซึ่งสั่งให้ใช้คู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ แต่เมื่อพิจารณาคู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถท้ายคำสั่งดังกล่าวหน้า 8 ข้อ 3.3 ใน 2) ได้ยกตัวอย่างอธิบายความหมายของข้อความที่ว่า “ไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่นั้น เช่น ถูกรถอื่นชนเป็นเหตุให้ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่รถที่มาชนนั้นหลบหนีไปไม่สามารถติดตามหรือทราบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย” ทำให้เห็นว่าข้อความดังกล่าวมุ่งเฉพาะกรณีไม่ทราบตัวผู้ที่ต้องรับผิด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า นางทิพวรรณผู้ตายและเป็นผู้ประสบภัยซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยมิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และมีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ตายคือ นายทินกร ผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย เพียงแต่นายทินกรถึงแก่ความตายไปก่อนถูกดำเนินคดีอาญา หาใช่เป็นกรณีไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัยดังที่จำเลยอ้างไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะรับผิดเพียงไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นดังที่กำหนดไว้ในข้อ 3.1.7

เมื่อไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะรับผิดเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว ความรับผิดของจำเลยจะมีเพียงใดนั้น จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า สัญญาประกันภัยตามฟ้องเป็นประกันภัยคํ้าจุนซึ่งจำเลยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัย (ซึ่งหมายถึงนางทิพวรรณผู้ตาย) เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย เมื่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้เอาประกันภัย หากแต่เกิดเพราะความประมาทของนายทินกรคู่กรณี จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินแก่คู่กรณี ส่วนทางด้านผู้เอาประกันภัยแม้จะเป็นฝ่ายถูก แต่ตามหลักของสัญญาประกันภัยคํ้าจุน จำเลยไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย ในขณะที่โจทก์อ้างว่านางทิพวรรณผู้ตายและโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอยู่ในฐานะผู้ประสบภัยมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในกรณีเสียชีวิตตามกรมธรรม์ ฯ เพราะข้อ 3.1 ที่กำหนดอัตราค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยจะชดใช้ในกรณีต่าง ๆ ระบุตัวผู้ที่จะได้รับการชดใช้โดยใช้คำว่า “ผู้ประสบภัย” ซึ่งตามกรมธรรม์ ฯ ข้อ 2 ได้ให้นิยามคำว่า “ผู้ประสบภัย” หมายความรวมทั้งคู่กรณีและผู้เอาประกันภัยที่ได้รับอันตราย ฯ และในข้อ 3.1 ก็ไม่ได้มีข้อความใดจำกัดว่าหมายถึงเฉพาะผู้ประสบภัยที่เป็นคู่กรณีซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เท่านั้น การตีความตามสัญญาของคู่ความทั้งสองต่างอ้างอิงข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัย ฝ่ายจำเลยตีความโดยอาศัยความในข้อ 3 ตอนต้นที่ระบุว่า” …บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของผู้ประสบภัยในนามผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย …” ซึ่งตรงกับหลักเรื่องประกันภัยค้ำจุนและเป็นการตีความตามแนวทางที่อยู่ในคู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ฯ หน้า 9 ย่อหน้าแรก ซึ่งอธิบายทำนองว่า แม้ผู้ขับขี่รถคันเอาประกันภัยจะเป็นฝ่ายถูก ก็ต้องไปใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นจากฝ่ายผิด หรือบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่เป็นฝ่ายผิดนั้น ส่วนฝ่ายโจทก์ตีความโดยอ้างความในข้อ 2 กับข้อ 3.1 ซึ่งให้ความหมายของคำว่า “ผู้ประสบภัย” และสิทธิของผู้ประสบภัยที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในกรณีต่าง ๆ รวมทั้งกรณีเสียชีวิตโดยไม่ได้ยกเว้นว่าไม่รวมถึงผู้เอาประกันภัยที่ประสบภัย แต่เมื่อสัญญาเกิดขึ้นโดยอาศัยเจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญ การตีความโดยเฉพาะเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยซึ่งข้อความในสัญญาถูกกำหนดขึ้นฝ่ายเดียวโดยที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่สามารถแก้ไขเป็นอย่างอื่นได้ จึงต้องตีความโดยคำนึงถึงความเข้าใจและความคาดหมายของผู้บริโภคอันเป็นส่วนหนึ่งของเจตนาในการเข้าทำสัญญาประกอบด้วยเสมอ ดังนั้น ถึงแม้ว่าข้อความในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 3 ตอนต้นจะตรงกับเรื่องประกันภัยค้ำจุนดังที่จำเลยต่อสู้ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยที่ทำขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และเมื่อพิจารณาต่อไปในข้อ 3.1.6 ที่กำหนดให้บริษัทผู้รับประกันภัยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้เอาประกันภัยและบุคคลในครอบครัวในกรณีรถที่เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องจากความผิดของผู้อื่นที่ขับขี่รถคันนั้น รวมทั้งข้อ 3.1.7 ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น จะเห็นว่าทั้งสองข้อเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ข้อตกลงว่าผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ สัญญาประกันภัยที่พิพาทจึงแตกต่างจากสัญญาประกันภัยค้ำจุน นอกจากนี้ การที่ข้อ 3.1.7 ซึ่งกำหนดว่า ผู้รับประกันภัยจะรับผิดเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นกล่าวถึงแต่เฉพาะกรณีผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยเป็นฝ่ายต้องรับผิดหรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิด ย่อมทำให้ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นวิญญูชนเข้าใจโดยสุจริตว่า หากตนเองไม่ได้เป็นฝ่ายผิดแล้วจะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเหมือนผู้ประสบภัยคนอื่น ๆ ไม่ใช่ได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้น ทั้งการที่กฎหมายบังคับให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยยิ่งทำให้ผู้ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายต่างคาดหมายว่าหากตนประสบอุบัติเหตุโดยที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดก็ต้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเต็มตามวงเงินที่คุ้มครอง

เมื่อข้อความในสัญญาไม่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาในการตีความว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ประสบภัยจากรถด้วยหรือไม่และเป็นที่สงสัย เมื่อกรมธรรม์ ฯ หรือสัญญาประกันภัยในคดีนี้เป็นเอกสารสัญญาที่จำเลยผู้รับประกันภัยนำมาใช้ในการประกอบกิจการรับประกันภัย โดยมีการกำหนดสาระสำคัญต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาสำเร็จรูปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 3 ที่ให้นิยามคำว่า “สัญญาสำเร็จรูป” หมายความว่า สัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะทำในรูปแบบใดซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน การตีความในกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น” กรณีจึงต้องตีความสัญญาไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายเต็มจำนวนความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิตเป็นเงิน 300,000 บาท ตามกรมธรรม์ ฯ ข้อ 3.1 ประกอบข้อ 3.1.3 เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท ให้แก่โจทก์ไปแล้วคงเหลือค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์อีก 265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ซึ่งไม่เกินสิทธิที่จะได้รับ จึงกำหนดให้ตามที่โจทก์มีคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ