Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ผู้มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ผู้มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

266
0

ผู้มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 224,416.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 สิงหาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรมโดยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายหอม ผู้ตาย นางลอน เป็นภริยาผู้ตาย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 81 – 0335 ฉะเชิงทรา และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 81 – 0336 ฉะเชิงเทรา จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถทั้งสองคันรับผิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายคันละ 250,000 บาท ต่อคนต่อครั้ง รวมสองกรมธรรม์เป็นเงิน 500,000 บาท ตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2547 ระหว่างอยู่ในอายุสัญญาประกันภัยจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จากอำเภอเมืองปราจีนบุรีมุ่งหน้าอำเภอศรีมโหสถ ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 6 ด้วยความเร็วสูง รถพ่วงหลุดออกจากส่วนหัวพุ่งชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – 6719 ปราจีนบุรี ซึ่งมีนายอร่าม เป็นผู้ขับและผู้ตายนั่งโดยสารมาด้วยถึงแก่ความตายทั้งสองคน จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว 400,000 บาท พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรีเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1651/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 578/2549 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ศาลจังหวัดปราจีนบุรีพิพากษาให้จำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ตามสำเนาคำพิพากษา ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายเป็นช่างซ่อมรถยนต์เปิดอู่ซ่อมรถยนต์ชื่อ เอื้อเฟื้อการช่าง ที่อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี รายได้เดือนละ 30,000 ถึง 40,000 บาท รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ และเป็นสายลับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ตายทำนาและจ้างผู้อื่นทำนาที่อำเภอศรีมโหสถ มีรายได้ปีละ 50,000 บาท และผู้ตายทำไร่มันสำปะหลัง 50 ไร่ มีรายได้ปีละ 150,000 บาท ถึง 180,000 บาท ผู้ตายอุปการะเลี้ยงดูหลานซึ่งเป็นบุตรของสิบเอกสุชาติ คือ เด็กชายอานนท์ เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเด็กหญิงธิดารัตน์ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ค่าปลงศพของผู้ตาย มีค่าอาหารเลี้ยงแขก ค่าดอกไม้ ค่าเช่าโลงเย็นและต้องเก็บศพไว้ 3 ปี เนื่องจากที่อำเภอศรีมโหสถ มีประเพณีว่าหากผู้ตายตายเนื่องจากอุบัติเหตุให้เก็บศพไว้ 3 ปี มีแขกร่วมงานศพผู้ตายจำนวนมาก ตามภาพถ่าย และมีค่าใช้จ่ายตามรายการค่าใช้จ่าย นางลอนภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคพาร์คินสันโดยป่วยเป็นโรคหัวใจตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2540 หลังเกิดเหตุประมาณ 8 เดือน นางลอนถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึง ค่าปลงศพด้วย และเหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นแทนจำเลยที่ 2 ฉะนั้น ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้นายหอม ต้องถึงแก่ความตายและเสียค่าปลงศพเป็นเงิน 200,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงมีภาระต้องรับผิดชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้างนั่นเอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนนี้อีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ทั้งสองอีก จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในปัญหานี้ฟังขึ้น

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่ารักษาพยาบาลนางลอน ภริยาของนายหอมผู้ตายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า นางลอนเป็นภริยาของนายหอม ผู้ตาย มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากนายหอม ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง ขณะที่นายหอมมีชีวิตอยู่เป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลซึ่งถือเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่นางลอนตลอดมา เมื่อนายหอมถึงแก่ความตายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 นางลอนจึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ได้ แต่ปรากฏว่าก่อนถึงแก่ความตายนางลอนยังมิได้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นทายาทโดยธรรมของนางลอน แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องคดีนี้เพียงว่าโจทก์ทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายหอมโดยมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางลอนด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แทนนางลอนแต่อย่างใด ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดค่ารักษาพยาบาลของนางลอน 24,416.01 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในปัญหานี้ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนค่าขาดการงานในครัวเรือน 1,000,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบของคำฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่อาจให้จำเลยทั้งสามรับผิดนอกเหนือคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้ ซึ่งในคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของนายหอมผู้ตาย เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของนางลอน และนายหอมผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่นางลอนอย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองเนื่องจากเห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ดังที่วินิจฉัยข้างต้น จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ฎีกาโจทก์ทั้งสองในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอานนท์ และเด็กหญิงธิดารัตน์ หรือไม่ เห็นว่า ผู้ที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 คือ สามีกับภริยาหรือบิดามารดากับบุตร แต่เด็กชายอานนท์ และเด็กหญิงธิดารัตน์ มิใช่บุตรของนายหอม ผู้ตาย แม้ในความเป็นจริงผู้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองอยู่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยทั้งสามและไม่ก่อสิทธิให้แก่ผู้อื่นฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแทน โจทก์ทั้งสองไม่อาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอานนท์และเด็กหญิงธิดารัตน์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น

สำหรับที่โจทก์ทั้งสองฎีกาเป็นปัญหาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินค่าปลงศพ และค่ารักษาพยาบาลนางลอน รวมเป็นเงิน 224,416.01 บาท ต่อโจทก์ทั้งสองด้วย เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 224,416.01 บาท แก่โจทก์ทั้งสองอีก จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึงค่าปลงศพด้วย เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้าง

ล. เป็นภริยาของ ห. ผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ขณะ ห. มีชีวิตเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลซึ่งถือเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ ล. ตลอดมา เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ล. จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ได้ แต่ก่อนถึงแก่ความตาย ล. ยังมิได้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นทายาทโดยธรรมของ ล. แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่าเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ห. มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แทน ล.

คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของ ห. ผู้ตาย แต่มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. และ ห. ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่ ล. อย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง

ผู้ที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 คือ สามีกับภริยา หรือบิดามารดากับบุตร แต่ อ. และ ธ. มิใช่บุตรของ ห. ผู้ตาย แม้ในความเป็นจริงผู้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองอยู่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยทั้งสามและไม่ก่อสิทธิให้แก่ผู้อื่นฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแทน