Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ การคิดค่าธรรมเนียมศาลในค่าขาดไร้อุปการะกรณีโจทก์หลายคน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การคิดค่าธรรมเนียมศาลในค่าขาดไร้อุปการะกรณีโจทก์หลายคน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

263
0

การคิดค่าธรรมเนียมศาลในค่าขาดไร้อุปการะกรณีโจทก์หลายคน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1828/2548

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงประทุษร้ายนายมะเกลือ ผาลา บุตรผู้เยาว์ของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้นายมะเกลือถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการจังหวัดพะเยาเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อชีวิตเป็นคดีอาญาหมายเลยดำที่ 454/2541 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาการกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะ 13,425 บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น 306,505 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 619,930 บาท โจทก์ทั้งสองคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 45,203.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิน 665,133.20 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิดต่อบุตรโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะมารดาของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 665,133.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 619,930 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะไม่เกิน 2,000 บาท ค่าปลงศพไม่เกิน 15,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน 20,000 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 263,425 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้เสียเฉพาะค่าธรรมเนียมศาล 3,000 บาท

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิด โดยบรรยายในส่วนของค่าเสียหาย คือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะ 13,425 บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น 306,505 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะ 13,425 บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น 50,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสอง 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลล่างกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ทั้งสองสูงเกินไป เห็นว่า แม้ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นค่าปลงศพมีจำนวน 50,000 บาท จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้โจทก์แต่ละคนได้ แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งสองรวมกันมาจำนวน 200,000 บาท นั้น เป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ทั้งสองสามารถฟ้องเรียกเฉพาะส่วนของตนโดยลำพังได้ ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง เมื่อแบ่งแยกค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองคนละครึ่งเป็นเงินคนละ 100,000 บาท และนำไปรวมกับค่าเสียหายที่เป็นค่าปลงศพจำนวน 50,000 บาทแล้ว ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนจึงไม่เกินคนละสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าค่าเสียหายในส่วนของค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นั้นสูงเกินไปถือว่าโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จะต้องคืนให้ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ

 

(พิชิต คำแฝง – สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ – เฉลิมชัย จาระไพบูลย์)

 

——————————————————————————————-

 

หมายเหตุ

คดีนี้มีโจทก์หลายคนเป็นโจทก์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 แต่มีข้อหาเดียวคือการกระทำละเมิดให้เข้าถึงความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ค่าปลงศพเป็นหนี้ที่แบ่งแยกเป็นของโจทก์แต่ละคนไม่ได้จึงเป็นทุนทรัพย์จำนวนเดียวกันทั้งจำนวน ส่วนค่าขาดไร้อุปการะแยกเป็นของโจทก์แต่ละคนได้ต้องคิดทุนทรัพย์แยกกัน แต่เนื่องมาจากข้อหาเดียวกันจึงต้องนำค่าปลงศพทั้งจำนวนมารวมกับค่าขาดไร้อุปการะของแต่ละคน เป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

สรุป

ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดตามคำพิพากษาเป็นค่าปลงศพมีจำนวน 50,000 บาท แต่เป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่กำหนดให้โจทก์ทั้งสองได้รับรวมกันมาจำนวน 200,000 บาท นั้น เป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ทั้งสองสามารถฟ้องเรียกเฉพาะส่วนของตนโดยลำพังได้ ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง เมื่อแบ่งแยกค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองคนละครึ่งเป็นเงินคนละ 100,000 บาท และนำไปรวมกับค่าเสียหายที่เป็นค่าปลงศพจำนวน 50,000 บาทแล้ว ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. ม. 248 วรรคหนึ่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไพโรจน์ วายุภาพ