Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ การเก็บตัวอย่างเลือดผู้ต้องหาต้องได้รับความยินยอม หรือไม่

การเก็บตัวอย่างเลือดผู้ต้องหาต้องได้รับความยินยอม หรือไม่

85
0

การเก็บตัวอย่างเลือดผู้ต้องหาต้องได้รับความยินยอม หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157, 160 ตรี

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี และปรับ 20,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคสอง และวรรคสี่ด้วย อันเป็นกรรมเดียวกันและเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 157 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุเวลา 1.30 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์ มีนายธนกร นั่งซ้อนท้าย ส่วนนางสาวรุ่งนภา ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคนรักของนายธนกรขับรถจักรยานยนต์ ออกจากบริเวณหน้าโรงแรมไปตามถนนมุ่งหน้าจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนทางตรงกว้าง 12 เมตร แบ่งช่องเดินรถเป็น 4 ช่อง กว้างช่องละ 3 เมตร มีเส้นสีเหลืองทึบแบ่งช่องเดินรถไปและกลับฝั่งละ 2 ช่อง ช่องเดินรถที่ 2 ของแต่ละฝั่งอยู่ติดกับเส้นสีเหลืองทึบ จำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทแซงรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับอยู่ในช่องเดินรถที่ 2 ขึ้นไปทางด้านขวาล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนซึ่งนายทวีชัย ขับรถจักรยานยนต์ อยู่ในช่องเดินรถที่ 2 สวนทางมา ทำให้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับทางด้านซ้ายเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายทวีชัยขับทางด้านซ้าย ในทิศทางการเคลื่อนที่สวนทางกัน รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นายทวีชัยตกจากรถได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย รถจักรยานยนต์ที่นายทวีชัยขับล้มลงไถลไปชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับอยู่ในช่องเดินรถที่ 2 ได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายใช้เวลารักษาประมาณ 1 สัปดาห์ จำเลยและนายธนกรตกจากรถ นายธนกรได้รับบาดเจ็บกะโหลกศีรษะและกระดูกใบหน้าแตกและถึงแก่ความตาย เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำผู้ตายทั้งสอง ผู้เสียหาย และจำเลยซึ่งได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สำหรับความผิดฐานขับรถโดยมิได้คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น ฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ คู่ความมิได้อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกสมชาย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองตาก เบิกความเป็นพยานว่า หลังได้รับแจ้งเหตุแล้วพยานกับพวกเดินทางไปตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุพบผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารว่าผู้ได้รับบาดเจ็บที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลถึงแก่ความตาย 2 คน พยานจึงเดินทางไปโรงพยาบาลดังกล่าว พบนางสาวรุ่งนภาซึ่งให้การว่า จำเลยเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ มีนายธนกรที่ถึงแก่ความตายนั่งซ้อนท้าย จำเลยได้รับบาดเจ็บหนักอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลของแพทย์ มีอาการดิ้นทุรนทุรายจากอาการเจ็บบาดแผล พยานจึงไม่เข้าไปสอบถาม แต่ได้ทำบันทึกข้อความขอให้ทางโรงพยาบาลตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของจำเลย นายทวีชัยและนางสาวรุ่งนภา เพื่อนำมาประกอบคดีนางสาวบุญญาภัทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุช่วงเทศกาลลอยกระทง เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่งานอุบัติเหตุฉุกเฉินอยู่ที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรอันเกิดจากรถจักรยานยนต์มาส่ง 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน พนักงานสอบสวนแจ้งให้พยาบาลเจาะเลือดผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสี่รายเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด พยานมีหน้าที่เจาะเลือดของจำเลยตามที่พนักงานสอบสวนชี้บอกตัวจำเลย โดยพนักงานสอบสวนลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความ ในฐานะผู้ส่งตรวจ พยานลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ทำการเจาะเลือด และมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอีกคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน พยานรายงานให้พยาบาลหัวหน้าเวรซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อให้รายงานแพทย์เวรในห้องฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งต่อไป จากนั้นแพทย์เวรมีคำสั่งให้เจาะเลือดของจำเลยได้ ต่อมาพยานมีความจำเป็นต้องไปปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ป่วยหนักอีกรายหนึ่งจึงไม่สามารถเจาะเลือดของจำเลยได้ พยานรายงานให้พยาบาลหัวหน้าเวรทราบ พยาบาลหัวหน้าเวรมอบหมายให้พยาบาลอีกคนหนึ่งเป็นผู้เจาะเลือดแทน แล้วนายณัฐพล บุรุษพยาบาลทำการเจาะเลือดของจำเลย โดยอยู่ในความควบคุมของพยาน พยานเห็นนายณัฐพล เข้าไปสอบถามจำเลยก่อนเจาะเลือด จำเลยมีสติสามารถบอกชื่อได้ นายณัฐพล ใช้สายยางรัดที่แขนข้างขวาของจำเลย และใช้เบตาดีนเช็ดบริเวณจุดที่จะเจาะเลือดจากนั้นเจาะเลือดของจำเลยบรรจุลงในหลอดพลาสติกใสซึ่งใช้สำหรับตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์โดยเฉพาะ แล้วใช้พลาสเตอร์พันบริเวณรอบจุก นำไปให้หัวหน้าพยาบาลปิดฉลากชื่อของจำเลยซึ่งพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์จากข้อมูลในเวชระเบียนผู้ป่วยของโรงพยาบาล ซึ่งขณะนั้นมีการลงประวัติของจำเลยในระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลแล้ว และเตรียมเอกสารเพื่อส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ เป็นผู้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ต่อไป นายราเมศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ เป็นพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชส่งตัวอย่างเลือดของจำเลยและบุคคลอื่นอีก 3 คน มาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ เพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ตัวอย่างเลือดของแต่ละคนบรรจุอยู่ในหลอดพลาสติกใส ปิดปากหลอดด้วยจุกพลาสติกพันด้วยพาราฟิล์ม แต่ละหลอดมีฉลากระบุชื่อเจ้าของเลือดไว้บรรจุรวมอยู่ในกล่องเดียวกันเป็นกล่องโฟมรักษาความเย็น พยานตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของจำเลยในวันเดียวกัน พบปริมาณแอลกอฮอล์ 262 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของนายทวีชัยและผู้เสียหายพบปริมาณแอลกอฮอล์ 230 และ 27 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ดื่มสุรา ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลไม่มีผู้ใดมาขอเจาะเลือดของจำเลยเพื่อนำไปตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และมือข้างขวาของจำเลยไม่มีร่องรอยเบตาดีนหรือเข็มเจาะเลือด เห็นว่า นางสาวบุญญาภัทร์และนายราเมศเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ในการจัดเก็บตัวอย่างเลือด และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของจำเลยตามลำดับไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะกลั่นแกล้งเบิกความให้ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อปรักปรำใส่ร้ายจำเลยให้ต้องรับโทษ เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริงที่ตนได้รู้เห็นมา ทั้งได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ ซึ่งให้การในวันเดียวกับวันเกิดเหตุว่า ก่อนเกิดเหตุพยานขับรถจักรยานยนต์ไปตามนายธนกรผู้ตายซึ่งเป็นคนรักของผู้เสียหายที่ไปดื่มสุรากับจำเลยที่ผับ โรงแรม เมื่อไปถึงหน้าโรงแรมผู้เสียหายโทรศัพท์เรียกนายธนกรให้ออกมาเพื่อกลับหอพัก สักครู่นายธนกรและจำเลยออกมาจากผับแล้วพากันขับรถจักรยานยนต์ไปจนเกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้จักจำเลยมาก่อน หลังเกิดเหตุยังไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย ส่อแสดงว่าผู้เสียหายให้การในรายละเอียดปลีกย่อยดังกล่าวไปตามความเป็นจริงโดยไม่ทันคิดช่วยเหลือจำเลย นอกจากนี้ยังได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ว่า เมื่อร้อยตำรวจเอกสมชาย สอบคำให้การจำเลยครั้งแรกและสอบคำให้การเพิ่มเติม โดยแจ้งพฤติการณ์แห่งคดีว่าพนักงานสอบสวนได้ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทำการเจาะเลือดของจำเลยเพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ต่อมาได้รับรายงานผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของจำเลยว่ามีปริมาณ 262 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กับสอบถามว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยไปดื่มสุรากับผู้ใด ที่ไหน อย่างไร จำเลยกลับตอบว่าไม่ขอตอบเช่นเดียวกัน โดยไม่ได้ให้การโต้แย้งคัดค้านว่าไม่มีการเจาะเลือดและผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลย แม้จะเป็นสิทธิของจำเลยในฐานะผู้ต้องหาที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างไรก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 (1) แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยดื่มสุราหรือไม่ในคืนเกิดเหตุถือเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ในข้อหาที่โจทก์ฟ้องนี้ จำเลยควรให้การปฏิเสธและบอกเล่าเหตุการณ์โดยชัดแจ้ง เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีของจำเลยเอง ที่จำเลยเบิกความว่า ตัวอย่างเลือดที่ส่งไปตรวจวิเคราะห์และรายงานการตรวจวิเคราะห์ ไม่ใช่เลือดของจำเลย เป็นแต่คำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เจาะเลือดของจำเลยในวันเกิดเหตุและส่งตัวอย่างเลือดของจำเลยไปให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่าพบปริมาณแอลกอฮอล์ 262 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในเลือดของจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย และข้อพิรุธจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ร้อยตำรวจเอกสมชาย เบิกความว่าขณะที่ร้อยตำรวจเอกสมชาย พบจำเลยในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล จำเลยมีอาการหนัก ดิ้นทุรนทุราย ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดคุยไม่รู้เรื่อง จึงไม่ได้เข้าไปพูดคุยสอบถามจำเลย และพนักงานสอบสวนให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจเลือดจำเลยเพื่อพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จึงรับฟังรายงานการตรวจวิเคราะห์ เป็นพยานหลักฐานมาลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) ประกอบมาตรา 160 ตรี วรรคสอง และวรรคสี่ ที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 กำหนดให้การตรวจพิสูจน์ที่ต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือดจากร่างกายของผู้ต้องหาต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาก่อน และบันทึกข้อความในการตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดของจำเลย ไม่มีลายมือชื่อของจำเลยให้ความยินยอมไว้ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติว่า การให้ความยินยอมต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ดังนั้นการให้ความยินยอมอาจทำโดยวิธีอื่นได้ ในปัญหานี้ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวบุญญาภัทร์ว่า ตั้งแต่ที่นางสาวบุญญาภัทร์ได้รับการร้องขอจากร้อยตำรวจเอกสมชาย ให้เจาะเลือดของจำเลยจนแพทย์เวรมีคำสั่งให้เจาะเลือดของจำเลยใช้เวลาประมาณ 15 นาที และนางสาวบุญญาภัทร์เห็นนายณัฐพล เข้าไปสอบถามจำเลยก่อนเจาะเลือด จำเลยมีสติสามารถบอกชื่อได้ ซึ่งมาตรฐานในการตรวจเลือดของคนไข้ จะต้องสอบถามและได้รับความยินยอมจากคนไข้ก่อนทุกครั้ง อีกทั้งได้ความจากบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ว่า จำเลยได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนซ้ายหัก กระดูกนิ้วก้อยมือซ้ายหัก เส้นเอ็นนิ้วก้อยซ้ายขาด และแผลฉีกขาดเข่าซ้าย 10 เซนติเมตร ทะลุเข้าไปถึงข้อเข่าซ้าย ไม่ใช่การบาดเจ็บทางสมอง อาการบาดเจ็บดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยดิ้นทุรนทุราย แต่ไม่ถึงขนาดหมดสติหรือไม่มีสติสัมปชัญญะ นายณัฐพล จึงยังสามารถสอบถามจำเลยและเจาะเลือดของจำเลยได้ พฤติการณ์ของจำเลยและนายณัฐพล แสดงว่าจำเลยให้ความยินยอมในการเจาะเลือดแล้ว รายงานการตรวจพิสูจน์วิเคราะห์ จึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อมามีว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถแต่กลับขับรถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุรามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 262 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้การรับรู้ อารมณ์ ระดับการมีสติลดลง แล้วยังขับแซงรถจักรยานยนต์ที่อยู่ข้างหน้าล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวน ในขณะที่มีรถจักรยานยนต์แล่นสวนทางมาในระยะกระชั้นชิด ซึ่งเป็นการขับรถโดยประมาทอย่างมากเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายทวีชัยผู้ตายขับสวนมา จนทำให้นายทวีชัยถึงแก่ความตาย และนายธนกรซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายที่ขับรถจักรยานยนต์ในช่องเดินรถเดียวกับจำเลยได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย และจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บิดาของนายธนกรและมารดาของนายทวีชัย จนบิดาของนายธนกรและมารดาของนายทวีชัยไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย หรือแม้จำเลยกำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม ก็เทียบไม่ได้กับความสูญเสียที่จำเลยก่อขึ้น ทั้งจำเลยหาได้สำนึกผิดกลับปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด จึงไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำคุกจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน