Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ การเป็นผู้เสียหายในความผิด ขับรถโดยเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลมีจุดวินิจฉัยอย่างไร

การเป็นผู้เสียหายในความผิด ขับรถโดยเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลมีจุดวินิจฉัยอย่างไร

132
0

การเป็นผู้เสียหายในความผิด ขับรถโดยเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลมีจุดวินิจฉัยอย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160, 160 ตรี และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย

จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสุรีย์ ภริยาของผู้ตาย นางฉลวย มารดาของผู้ตาย และนางระพีพรรณ บุตรของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสามเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ผู้ร้องทั้งสามไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต โดยให้เรียกนางสุรีย์ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 นางฉลวยว่า โจทก์ร่วมที่ 2 และนางระพีพรรณว่า โจทก์ร่วมที่ 3 และโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 2,048,056.13 บาท

จำเลยให้การในส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) (4), 78, 157, 160 (ที่ถูก 160 วรรคสอง), 160 ตรี วรรคสี่ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถในขณะเมาสุรา ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานไม่หยุดและให้การช่วยเหลือตามสมควร พร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 2 เดือน เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 270,579 บาท และชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก (ที่ถูก ยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ)

โจทก์ร่วมทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานไม่หยุดและให้การช่วยเหลือตามสมควรพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 4 ปี 2 เดือน และให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 519,158 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 120,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซี่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถยนต์กระบะ โดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 182 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ไปตามถนนสาย 304 (ราชสีมา-ปักธงชัย) มุ่งหน้าไปทางอำเภอปักธงชัย โดยถนนดังกล่าวแบ่งช่องเดินรถไปและกลับฝั่งละ 2 ช่อง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ ที่นายวัชรินทร์ ผู้ตาย ขับออกมาจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์เพื่อไปกลับรถเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย สำหรับความผิดฐานไม่หยุดและให้การช่วยเหลือตามสมควร พร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด จำเลยไม่อุทธรณ์ ความผิดข้อหานี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ส่วนความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรงจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับพิจารณาในข้อหานี้โดยกำหนดโทษใหม่เป็นจำคุก 4 ปี จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามปากร้อยตำรวจเอกหญิงพนมเนตร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลางว่า หลังเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกหญิงพนมเนตรออกไปตรวจที่เกิดเหตุ พบมีรอยครูดอยู่ในช่องเดินรถด้านขวาห่างจากเส้นกั้นขอบทางด้านขวาประมาณ 2.5 เมตร และห่างจากเส้นแบ่งช่องเดินรถด้านซ้ายประมาณ 1 เมตร และพบชิ้นส่วนของรถตกอยู่ ซึ่งร้อยตำรวจเอกหญิงพนมเนตรสันนิษฐานว่าจุดชนอยู่ในช่องเดินรถของจำเลย และได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามปากพันตำรวจโทยอดรัก ซึ่งเป็นผู้ตรวจร่องรอยการเฉี่ยวชนของรถทั้งสองคันว่า จากการตรวจสอบรถยนต์กระบะของจำเลยพบความเสียหายบริเวณด้านหน้าซ้าย ไฟเลี้ยวซ้ายแตก แก้มซ้ายเหนือบังโคลนมีรอยบุบยุบ กันชนหน้าด้านซ้ายมีรอยครูด ซุ้มล้อด้านหลังมีรอยครูด ส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายพบร่องรอยความเสียหาย โดยบริเวณคันบังคับเลี้ยวด้านขวามีรอยครูด เฟรมครอบไฟหน้ามีรอยครูด บังลมด้านหน้าแตกหัก ท่อไอเสียมีรอยครูด ที่พักเท้าด้านขวาบิดงอ ร่องรอยความเสียหายของรถทั้งสองคันเข้ากันได้ จึงสันนิษฐานว่าจุดที่ปะทะกันของรถทั้งสองคันน่าจะอยู่ที่มุมด้านซ้ายของรถยนต์กระบะกับด้านหน้าข้างขวาบริเวณคันบังคับของรถจักรยานยนต์ โดยลักษณะการชนของรถทั้งสองคันเป็นการเบียดเข้าหากัน แต่ไม่ทราบว่าคันไหนชนคันไหน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจุดชนอยู่ในช่องเดินรถของจำเลย และบริเวณด้านหน้ารถยนต์ของจำเลยและบริเวณด้านท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้ตายไม่มีร่องรอยเฉี่ยวชนเช่นนี้ แสดงว่าก่อนเกิดเหตุรถทั้งสองคันไม่ได้แล่นอยู่ในช่องเดินรถเดียวกัน ต่อมาเมื่อผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในช่องเดินรถด้านขวาที่มีรถยนต์กระบะของจำเลยแล่นอยู่ทำให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน โดยด้านหน้าขวาบริเวณคันบังคับของรถจักรยานยนต์ปะทะบริเวณมุมหน้าซ้ายของรถยนต์กระบะจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์เปลี่ยนเข้าช่องเดินรถทางขวา ซึ่งเป็นช่องเดินรถเดียวกันกับช่องเดินรถของจำเลย เพื่อที่จะกลับรถมุ่งหน้าสู่อำเภอเมืองนครราชสีมา ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อหาผู้ขับรถจักรยานยนต์ว่า ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความเสียหาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์เพื่อที่จะกลับรถมุ่งหน้าสู่อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวาโดยไม่ตรวจตรารถที่วิ่งมาในทางตรงให้ปลอดภัยทำให้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกัน การที่ผู้ตายไม่ใช้ความระมัดระวังในการเปลี่ยนช่องเดินรถถือได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ในส่วนของจำเลยนั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยขับรถยนต์ในขณะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 182 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งประสงค์จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เนื่องจากสุราหรือของมึนเมาทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้โดยง่าย การที่จำเลยขับรถผ่านที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางตรงและเป็นช่วงเวลากลางวันนั้น หากจำเลยไม่อยู่ในอาการมึนเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น จำเลยก็น่าจะหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทันก่อนที่จะเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้น เหตุเฉี่ยวชนจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยด้วยเช่นกัน เมื่อจำเลยมีส่วนประมาท จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นการต่อไปว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อรับฟังได้ว่าทั้งจำเลยและตัวผู้ตายต่างก็เป็นฝ่ายประมาทก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้น กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ที่บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 223 บัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุราโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 182 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ค่อนข้างมาก บ่งชี้ว่าจำเลยไม่แยแสต่อผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการขับรถในขณะที่ตนเมาสุรา ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสาม โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า จุดชนอยู่ในช่องเดินรถที่สองนับจากซ้ายมือ แสดงว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ขับรถในช่องเดินรถซ้ายสุดตามที่กฎหมายกำหนด บนพื้นถนนก็ไม่ปรากฏว่ามีรอยเบรคของรถยนต์คันที่จำเลยขับแต่อย่างใด ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากสภาพถนนบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยสามารถมองเห็นรถที่แล่นอยู่ในทิศทางเดียวกับรถของตนได้โดยง่าย ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่า จำเลยมีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าผู้ตาย จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ได้แก่ ค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 1,500 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน 180,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 48,579 บาท ค่าปลงศพเป็นเงิน 40,000 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 270,579 บาท และชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ตายเดือนละ 1,500 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดนั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เท่ากับจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง เมื่อลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ แล้ว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง ได้อีก และจำเลยยังมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราและมิได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง สำหรับอัตราดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทนนั้น ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 ตรี วรรคสี่ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานไม่หยุดและให้การช่วยเหลือตามสมควร พร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 3 ปี 2 เดือน และให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 270,579 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2561 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ก็ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีแต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ