Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ขับรถชนท้ายผู้ตาย ภริยาผู้ตายสามารถฟ้องเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่

ขับรถชนท้ายผู้ตาย ภริยาผู้ตายสามารถฟ้องเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่

104
0

ขับรถชนท้ายผู้ตาย ภริยาผู้ตายสามารถฟ้องเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 402,795.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 304,562.40 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ 23,847 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมควร ผู้ตาย จำเลยที่ 2 รับประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ในส่วนของประกันภัยภาคบังคับ จำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร และในส่วนประกันภัยภาคสมัครใจ จำนวนเงินเอาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก กรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. 1,000,000 บาท ต่อคน และความเสียหายต่อทรัพย์สิน 5,000,000 บาท ต่อครั้ง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนมิตรภาพจากอำเภอสีคิ้วมุ่งหน้าอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถห้ามล้อได้ทันเป็นเหตุให้ชนท้ายรถจักรยานยนต์พ่วงข้างที่ผู้ตายขับในขณะแล่นอยู่ด้านหน้าในทิศทางเดียวกัน ทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โดยจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียว หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มอบเงินช่วยเหลืองานศพให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย 20,000 บาท และจำเลยที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 300,000 บาท ให้แก่นางราตรี บุตรของผู้ตายเต็มตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้ว โดยยังมิได้ชำระเงินค่าสินไหมทดแทน ก่อนคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายให้แก่นางราตรีซึ่งเป็นโจทก์ร่วม 50,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ สำหรับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เป็นเงิน 21,767 บาท คู่ความมิได้อุทธรณ์ ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับฎีกาโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าขาดแรงงาน 750,000 บาท นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ จึงไม่กำหนดค่าขาดแรงงานให้ โจทก์มิได้อุทธรณ์ ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว แต่ในชั้นฎีกาโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าขาดแรงงานแก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของค่าขาดไร้อุปการะชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์อุทธรณ์ชัดแจ้งแล้วว่า การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะขอเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 800,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า ที่โจทก์อ้างว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องป่วยซึมเศร้าและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายที่จะเรียกได้ อย่างไรก็ตามสามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะของตน เมื่อพิจารณาว่าผู้ตายมีอายุ 77 ปี และประกอบอาชีพเกษตรกร ศาลชั้นต้นจึงเห็นสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์เป็นเงิน 432,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ต้องมีผู้ดูแล โจทก์สูญเสียคนสำคัญ ไม่อาจคิดเป็นตัวเงินได้ที่โจทก์เรียกร้องมาเหมาะสมแล้วนั้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของค่าขาดไร้อุปการะนั้น เห็นว่า ตามอุทธรณ์ของโจทก์ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะ โดยอ้างว่าผู้ตายประกอบอาชีพเป็นกำลังหลัก แต่โจทก์กลับต้องสูญเสียคนสำคัญในการอุปการะเลี้ยงชีพ ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการโต้แย้งเพื่อขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะเพิ่มขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อผู้ตายซึ่งเป็นสามีโจทก์ ผู้ตายมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนได้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด รวมถึงค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ต้องเสียหายว่าเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคท้าย มาตรา 438 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 443 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำสืบอาชีพหน้าที่การงานและรายได้ของผู้ตายก่อนถึงแก่ความตาย ถือว่าได้นำสืบและอ้างในอุทธรณ์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีอันเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาต้องขาดไร้อุปการะแล้ว จึงมีข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่จะวินิจฉัยค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยค่าเสียหายส่วนนี้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย พิจารณาฎีกาของโจทก์ประกอบข้อเท็จจริงจากรายได้และอาชีพการงานของผู้ตาย เห็นว่า ก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีอายุ 77 ปี แม้อายุมากแต่ขับรถคันเกิดเหตุได้ แสดงว่ายังมีสายตาและสุขภาพแข็งแรง โจทก์นำสืบว่าผู้ตายมีรายได้จากการทำเกษตรปลูกข้าวหอมมะลิ 37 ไร่ มีรายได้ต่อปีประมาณ 1 ล้านบาท ปลูกข้าวโพดอีก 37 ไร่ มีรายได้ต่อปีประมาณ 270,000 บาท รายได้จากการทำเกษตรได้นำฝากธนาคาร ฝ่ายจำเลยไม่นำสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์เป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายมีรายได้จากการทำเกษตรจริง พิจารณาทางนำสืบโจทก์ประกอบพฤติการณ์แล้วเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์เป็นเงิน 650,000 บาท ฎีกาโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อมามีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นกับค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์เหมาะสมหรือไม่ สำหรับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์เสียเงินค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพไปเป็นเงิน 398,450 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ่ายไปจริงและเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดงานศพ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งการกำหนดค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ศาลจะต้องพิจารณาตามสมควร ตามความจำเป็น ทั้งต้องพิจารณาถึงการจัดงานศพตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย เมื่อพิจารณารายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศพของผู้ตาย โดยคำนึงถึงข้อพิจารณาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า โจทก์นำสืบโดยแสดงรายละเอียดแยกแยะแต่ละวันและแต่ละรายการที่ใช้จ่ายโดยบางส่วนมีใบเสร็จยืนยัน ฝ่ายจำเลยไม่นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท มานั้นต่ำเกินไป เห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 350,000 บาท สำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินรถจักรยานยนต์และส่วนพ่วงข้าง โจทก์ฎีกาขอให้กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 80,000 บาท นั้น โจทก์มีนายสมพร บุตรของผู้ตายเบิกความว่า ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์คิดเป็นราคารถจักรยานยนต์ใหม่ 59,205 บาท และโจทก์เสียเงินค่าซื้อรถพ่วงข้าง 12,000 บาท กับค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 8,795.40 บาท แต่เมื่อพิจารณาสภาพความเสียหายของรถจักรยานยนต์แล้ว ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์ไม่ได้เสียหายโดยสิ้นเชิงหรือถึงขนาดไม่อาจซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิม เช่นนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจเรียกราคาค่ารถจักรยานยนต์ 59,205 บาท ได้ เมื่อโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถจักรยานยนต์ให้กลับคืนสภาพเดิมเป็นเงิน 8,795.40 บาท และค่ารถพ่วงข้างอีกเป็นเงิน 12,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,795.40 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายในส่วนของทรัพย์สินรถจักรยานยนต์เป็นค่าซ่อมรถเป็นเงิน 20,795.40 บาท เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าเสียหายกรณีความเสียหายต่อชีวิต เป็นค่าปลงศพ, ค่ารักษาพยาบาล และค่าขาดไร้อุปการะรวมเป็นเงิน 1,021,767 บาท เมื่อหักเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้รับชดใช้แล้วเป็นเงิน 370,000 บาท จากค่าเสียหายในส่วนนี้ คงเหลือค่าสินไหมทดแทนกรณีความเสียหายต่อชีวิต 651,767 บาท และความเสียหายต่อทรัพย์สินในส่วนค่าซ่อมรถ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งสองส่วนแก่โจทก์เป็นเงิน 672,562.40 บาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย 1,000,000 บาท นั้น เมื่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 2 ฉบับรวมกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในส่วนนี้

อนึ่ง จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนมีความผูกพันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ใช่ผู้ทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด หากแต่ต้องรับผิดนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ผิดนัด โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 แต่หนังสือทวงถามของโจทก์ไม่ได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ไว้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายจำเลยที่ 2 ลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 เมื่อจำเลยที่ 2 รับหนังสือทวงถามในวันที่ 24 เมษายน 2561 แล้วไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2561 และต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป และระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาดังกล่าวมาเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 672,562.40 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนทุนทรัพย์ 750,000 บาท ที่ไม่รับวินิจฉัยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถชนท้ายรถซึ่งผู้ตายขับรถแล่นอยู่ในทิศทางเดียวกัน และความประมาทเกิดจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น นั้น เห็นว่า ผู้ตายเป็นสามีโจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคท้าย มาตรา 438 วรรคหนึ่งและมาตรา 443 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำสืบและอ้างถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะแล้ว จึงมีข้อเท็จจริงที่ชอบจะวินิจฉัยค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยค่าเสียหายส่วนนี้ไป ส่วนค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนี่ง บัญญัติให้ผู้กระทำละเมิดต้องรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย โดยค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวศาลจะพิจารณาตามสมควรตามความจำเป็น ทั้งพิจารณาตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้รับผิดเต็มวงเงินประกันนั้น เมื่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่เกินวงเงินความคุ้มครองรวมของทั้ง 2 กรมธรรม์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาส่วนนี้