Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ขับรถบรรทุกอ้อยล้นท้ายรถ ถือว่ากระทำโดยประมาทหรือไม่

ขับรถบรรทุกอ้อยล้นท้ายรถ ถือว่ากระทำโดยประมาทหรือไม่

183
0

ขับรถบรรทุกอ้อยล้นท้ายรถ ถือว่ากระทำโดยประมาทหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7282/2544

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๗๘, ๑๕๗, ๑๖๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๓๐๐

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๔ เดือน กับมีความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ (ที่ถูก ๗๘ วรรคหนึ่ง) , ๑๖๐ วรรคหนึ่ง อีกกรรมหนึ่ง จำคุก ๑ เดือน รวมจำคุก ๕ เดือน ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลา เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อบรรทุกอ้อยไปตามถนนสายลาดยาว – ชุมตาบง จากชุมตาบงมุ่งหน้าไปทางอำเภอลาดยาว เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุได้ถูกรถยนต์กระบะซึ่งพันตำรวจตรีเขจ รวมกิ่ง ขับตามหลังในทิศทางเดียวกัน แล่นชนท้ายเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันต่างได้รับความเสียหายและพันตำรวจตรีเขจไดัรับอันตรายสาหัส และหลังจากเกิดเหตุ จำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรไม่แสดงตัวและแจ้งต่อเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้พันตำรวจตรีเขจซึ่งขับรถตามหลังในทิศทางเดียวกันแล่นชนหรือไม่ เห็นว่า เกี่ยวกับปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยตรงกันว่า รถบรรทุกคันที่จำเลยขับได้บรรทุกอ้อยเต็มคันโดยต้นอ้อยยื่นล้ำออกนอกท้ายรถ กรณี จึงเป็นที่เห็นได้ว่ารถบรรทุกคันที่จำเลยขับเป็นรถที่บรรทุกของยื่นเกินความยาวของตัวรถขณะที่อยู่ในทางเดินรถ ซึ่งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “รถที่บรรทุกของยื่นเกินความยาวของตัวรถ ขณะที่อยู่ในทางเดินรถ และในเวลาต้องเปิดไฟตามมาตรา ๑๑ หรือ มาตรา ๖๑ ผู้ขับขี่ต้องจุดไฟสัญญาแสดงแดง หรือในเวลากลางวันต้องติดธงสีแดงไว้ที่ตอนปลายสุดของสิ่งที่บรรทุกนั้น โดยจุดไฟสัญญาณหรือติดธงไว้ให้มองเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ” วรรคสองบัญญัติว่า ไฟสัญญาณสีแดงหรือธงสีแดงตามวรรคหนึ่งจะใช้ชนิดลักษณะหรือจำนวนเท่าใด ให้อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มาตรา ๑๑ บัญญัติว่า “ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถหรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในะยะเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ซึ่ง ขับรถในทางต้องเปิดไฟ หรือใช้แสงสว่างตามประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” กฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๑๓ ระบุว่า “ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน สัตว์ รถหรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) ? (๕) ในกรณีที่บรรทุกของยื่นล้ำออกนอกตัวรถต้องใช้โคมไฟ แสงแดงติดไว้ที่ปลายสุดของส่วนที่ยื่นออกไปด้วย” และตามข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่อง ชนิด ลักษณะ จำนวนธงหรือไฟสัญญาณสำหรับรถที่บรรทุกของยื่นเกินความยาวของตัวรถ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๒ ออกตามความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ กำหนดว่า “ไฟสัญญาณแสงแดง ส่องออกท้ายรถให้สามารถเห็นแสงไฟได้ชัดเจน ในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร” ปรากฏว่า คดีนี้เกิดเหตุในเวลากลางคืนเวลา ๒๑.๓๐ นาฬิกา แม้จะปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุว่า สองฝั่งถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีบ้านเรือนปลูกอยู่หลายหลังตามที่จำเลยอ้างในฎีกา แต่ก็ไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า ถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้พันตำรวจตรีเขจมองเห็นรถจำเลยได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร เมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับรถ ในทางต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๕ กฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๒) และข้อกำหนดกรมตำรวจดังกล่าวมาข้างต้น คือ ต้องใช้หรือมีโคมไฟแสงแดงติดไว้ที่ปลายสุดของต้นอ้อยส่วนที่ยื่นล้ำออกนอกท้ายรถจำเลยโดยให้ไฟสัญญาณแสงแดงส่องออกท้ายรถให้สามารถเห็นแสงไฟได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร จากคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยฟังได้ความตรงกันว่า ก่อนเกิดเหตุมีหลอดไฟติดไว้ที่ปลายของต้นอ้อยส่วนที่ยื่นล้ำออกนอกท้ายรถจำเลย แต่หลอดไฟดังกล่าวขาดใช้การไม่ได้ ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างต่อไปว่า หลังจากจำเลยขับรถออกจากด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจไปแล้วก่อนถึงที่เกิดเหตุ จำเลยได้เปลี่ยนหลอดไฟ ที่ใช้การไม่ได้ดังกล่าวแล้ว อันเป็นทำนองอ้างว่า ก่อนและขณะเกิดเหตุหลอดไฟที่ติดไว้ที่ปลายของต้นอ้อยส่วนที่ยื่นล้ำออกนอกท้ายรถจำเลยใช้การได้นั้น ก็ไม่ปรากฏจากการนำสืบของจำเลยว่าหลอดไฟที่ว่านี้เป็นไฟสัญญาณแสงแดงและมีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้มองเห็นรถจำเลยหรือแสงไฟได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร หรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุซึ่งเป็นรถที่บรรทุกอ้อยยื่นล้ำออกนอกตัวรถโดยไม่มีโคมไฟแสงแดงติดไว้ที่ปลายสุดของต้นอ้อยส่วนที่ยื่นออกไปด้วย จึงทำให้รถยนต์ที่พันตำรวจตรีเขจขับตามหลังมาไม่สามารถมองเห็นรถจำเลยหรือแสงไฟได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร การกระทำของจำเลยเป็นการขับรถโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๕ กฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๒) และข้อกำหนดกรมตำรวจดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการขับรถ และการกระทำดังกล่าวเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ที่พันตำรวจตรีเขจขับพุ่งเข้าชนท้ายรถบรรทุกที่จำเลยขับ จนเป็นเหตุให้พันตำรวจตรีเขจได้รับบาดเจ็บสาหันถือได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาท ส่วนที่พันตำรวจตรีเขจขับรถโดยประมาทด้วยตามที่จำเลยอ้างในฎีกา ก็หาทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นการกระทำโดยประมาทกลับเป็นไม่ประมาทไปได้ไม่ กรณี ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างประการอื่น ๆ ในฎีกาของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

สรุป

รถบรรทุกคันที่จำเลยขับเป็นรถที่บรรทุกอ้อยยื่นเกินความยาวของตัวรถขณะที่อยู่ในทางเดินรถ และถนนที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้มองเห็นรถจำเลยได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร จำเลยซึ่งเป็น ผู้ขับรถในทางต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11 มาตรา 15 กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) และข้อกำหนดกรมตำรวจ คือต้องใช้หรือมีโคมไฟแสงแดงติดไว้ที่ปลายสุดของต้นอ้อยส่วนที่ยื่นล้ำออกนอกท้ายรถจำเลยโดยให้ไฟสัญญาณแสงแดงส่องออกท้ายรถให้สามารถเห็นแสงไฟได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร

การที่จำเลยขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุซึ่งเป็นรถที่บรรทุกต้นอ้อยยื่นล้ำออกนอกตัวรถโดยไม่มีโคมไฟแสงแดง ติดไว้ที่ปลายสุดของต้นอ้อยส่วนที่ยื่นออกไปด้วย ทำให้รถยนต์ที่ ถ. ขับตามหลังมาไม่สามารถมองเห็นรถจำเลยหรือแสงไฟได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร การกระทำของจำเลยเป็นการขับรถโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11 มาตรา 15 กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522 ) และข้อกำหนดกรมตำรวจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการขับรถ และการกระทำดังกล่าวเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ ที่ ถ. ขับพุ่งชนท้ายรถบรรทุกที่จำเลยขับ จนเป็นเหตุให้ ถ. ได้รับบาดเจ็บสาหัสถือได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาท ส่วนที่ ถ. ขับรถโดยประมาทด้วย ก็หาทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นการกระทำโดยประมาทกลับเป็นไม่ประมาทไปได้ไม่