Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ขับรถฝ่าฝืนไฟสีเหลืองอำพัน มีความผิดฐานประมาทหรือไม่

ขับรถฝ่าฝืนไฟสีเหลืองอำพัน มีความผิดฐานประมาทหรือไม่

338
0

ขับรถฝ่าฝืนไฟสีเหลืองอำพัน มีความผิดฐานประมาทหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2534

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์สาธารณรับจ้างด้วยความเร็วสูงเข้าสู่สี่แยกฝ่า สัญญาณไฟแดงโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับขี่ มีนายดาวเรืองนั่งซ้อนท้ายทำให้นางยี่โถ ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส จำเลยที่ 2ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและขับขี่โดยประมาทฝ่า สัญญาณไฟแดงเจ้าสู่สี่แยกเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ ทำให้นางยี่โถ ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปฏิเสธข้อหาขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 157 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จำคุกคนละ 1 ปี และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64 อีกกระทงหนึ่งปรับ 200 บาท จำเลยที่ 2 รับสารภาพในความผิดฐานนี้มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 100 บาทรวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 100 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับสัญญาณจราจรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22 บัญญัติไว้ว่า ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏข้างหน้าในกรณีต่อไปนี้

(1) สัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันให้ผู้ขับขี่เตรียมหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุดเพื่อเตรียมปฏิบัติตามสัญญาณที่จะปรากฏต่อไปดังกล่าวใน (2) เว้นแต่ผู้ขับขี่ที่ได้เลยให้รถหยุดไปแล้วให้เลยไปได้

(2) สัญญาณจราจรไฟสีแดงหรือเครื่องหมายจราจรสีแดงที่มีคำว่า”หยุด” ให้ผู้ขับขี่หยุดรถหลังเส้นให้รถหยุด

จึงเป็นที่เห็นได้ว่าสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันกับสัญญาณจราจรไฟสีแดงเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในมาตราเดียวกันให้ผู้ขับขี่รถปฏิบัติตามสัญญาณจราจรในลักษณะเดียวกันคงต่างกันเพียงว่าถ้าเป็นสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันให้ผู้ขับขี่เตรียมหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุดเพื่อเตรียมปฏิบัติตามสัญญาณไฟสีแดงที่จะปรากฏต่อไป ทั้งนี้ โดยมีข้อยกเว้นไว้ด้วยว่าถ้าผู้ขับขี่ที่ได้ขับรถเลยเส้นให้ รถหยุดไปแล้วให้เลยไปได้ ส่วนสัญญาณจราจรไฟสีแดงนั้นเป็นสัญญาณที่ให้ผู้ขับขี่ต้องหยุดจะ ขับรถเลยต่อไปอีกไม่ได้ แสดงว่าสัญญาณไฟสีเหลืองอำพันเป็นการเตือนให้ผู้ขับขี่เตรียมตัวหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุดถ้าผู้ขับขี่มิได้เตรียมตัวหยุดรถกลับขับฝ่าฝืนสัญญาณไฟสีเหลืองอำพันก็เป็นความผิดเช่นเดียวกันกับที่ขับไม่หยุดรถเมื่อมีสัญญาณไฟแดงโดยขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงไป ฉะนั้น ถ้าผู้ขับรถไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรดังกล่าวก็เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 คดีนี้แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟสีแดงแต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันไปโดยไม่หยุดที่หลังเส้นให้รถหยุดก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ศาลย่อมนำมาวินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 1ได้ โดยไม่ถือว่าทางพิจารณาต่างกับฟ้อง

พิพากษายืน.

สรุป

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43,157 โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยประมาทด้วยความเร็วสูงและฝ่าฝืนสัญญาณไฟสีแดง แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันไปโดยไม่หยุดที่หลังเส้นให้รถหยุด ศาลย่อมนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยลงโทษจำเลยได้ทั้งนี้เพราะการขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในมาตราเดียวกันคือมาตรา 22,152 เมื่อฝ่าฝืนก็เป็นความผิดเช่นเดียวกันจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง.