Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ขับรถโดยไม่เว้นช่องระยะห่าง เกิดอุบัติเหตุถือว่ากระทำโดยประมาทหรือไม่

ขับรถโดยไม่เว้นช่องระยะห่าง เกิดอุบัติเหตุถือว่ากระทำโดยประมาทหรือไม่

381
0

ขับรถโดยไม่เว้นช่องระยะห่าง เกิดอุบัติเหตุถือว่ากระทำโดยประมาทหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1770/2539

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 54, 57, 148, 157, 160 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 มาตรา 27, 30

จำเลย ทั้ง สอง ให้การ ปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 160 ปรับ 1,200 บาทไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง

จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157ปรับ 400 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกคำยืนยันว่า จำเลยที่ 1 จอดรถให้ผู้โดยสารลงโดยกะทันหันและจำเลยที่ 1 มิได้จอดรถกีดขวางทางจราจรแต่อย่างใดพยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังโจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 2ได้ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาท ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 43(4), 157, 160 หรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์ตามหลังรถของจำเลยที่ 1 หลังจากรถของจำเลยที่ 1แล่นแซงขึ้นหน้าไปแล้ว พยานโจทก์มีนายฟ้า นายมะพลับ พิศดูนางแคแสด ผู้โดยสารรถของจำเลยที่ 1 เบิกความต้องกันว่าเมื่อรถของจำเลยที่ 1 แล่นแซงรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปแล้วมีผู้โดยสารจะลงจึงเคาะกระจกรถบอกให้จำเลยที่ 1 จอด จำเลยที่ 1จึงจอดรถให้ผู้โดยสารลง ขณะที่ผู้โดยสารกำลังลงจากรถ รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 ก็แล่นเข้าชนท้ายรถของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2นำสืบว่า จำเลยที่ 1 จอดรถโดยกะทันหันห่างรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังแล่นตามหลังมาในระยะ 3 – 4 เมตร จำเลยที่ 2ไม่ได้ห้ามล้อได้พยานยามหักรถหลบไปทางขวาแต่ไม่พ้น จึงเฉี่ยวชนท้ายรถของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มิได้จอดรถชิดของทาง ท้ายรถของจำเลยที่ 1 เลี่ยงออกทางถนน แผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุเอกสารหมายจ.2 ไม่ถูกต้องเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 บัญญัติว่าผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ห่างรถคันหน้าพอสมควรในระยะที่จะหยุดรถได้โดยปลอดภัย ในเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ ดังนั้นจึงมีหลักว่า รถที่แล่นตามกัน รถหลังต้องระวังรถหน้าต้องทิ้งระยะห่างพอที่จะหยุดรถได้ทันตามข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ข้างต้นนั้นนายการะเกด คนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถไม่เร็วนัก แต่พยานนั่งก้มหน้าเพราะตาอักเสบโดนลมไม่ได้ จึงไม่เห็นเหตุการณ์ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีพยานสนับสนุน มีน้ำหนักน้อย ไม่พอให้รับฟังส่วนข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 1 มิได้จอดรถชิดขอบทาง ท้ายรถเฉียงออกถนนนั้น โจทก์มีร้อยตำรวจโทเทียนหยดพนักงานสอบสวนเบิกความประกอบแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 ได้ความว่าขณะไปถึงที่เกิดเหตุพบรถของจำเลยที่ 1 จอดอยู่ในลักษณะขนานกับถนน เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 จอดรถให้ผู้โดยสารลง จำเลยที่ 1จึงไม่น่าจะจอดรถในลักษณะดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง น่าเชื่อว่าแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 ได้ทำขึ้นตามความเป็นจริงข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ไม่อาจรับฟังได้ ทางพิจารณาได้ความว่าถนนสายทุ่งลุง – บ้านเหนือ ที่เกิดเหตุเป็นถนนราดยางเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน กว้างเพียง 5 เมตรเศษ มีช่องเดินรถสองช่องแล่นสวนกัน รถจึงแล่นได้ไม่เร็วมากนัก พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าก่อนเกิดเหตุมีผู้โดยสารเคาะกระจกให้จำเลยที่ 1 จอดรถจำเลยที่ 1 จึงจอดรถเข้าข้างทางให้ผู้โดยสารลง ขณะที่ผู้โดยสารกำลังลงจากรถ จำเลยที่ 2 ก็ขับรถจักรยานยนต์แล่นมาชนท้ายรถของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถเร็ว แต่พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ตามหลังรถของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทโดยไม่เว้นระยะห่างพอสมควรในระยะที่จะหยุดรถโดยปลอดภัย เป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา

พิพากษายืน

สรุป

ก่อนเกิดเหตุมีผู้โดยสารเคาะกระจกให้จำเลยที่1จอดรถจำเลยที่1จึงจอดรถเข้าข้างทางให้ผู้โดยสารลงขณะที่ผู้โดยสารกำลังลงจากรถจำเลยที่2ก็ขับรถจักรยานยนต์แล่นมาชนท้ายรถของจำเลยที่1แม้จะฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่2ขับรถเร็วแต่พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยที่2ขับรถจักรยานยนต์ตามหลังรถของจำเลยที่ 1ด้วยความประมาทโดยไม่เว้นระยะห่างพอสมควรในระยะที่จะหยุดรถโดยปลอดภัยจำเลยที่2จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา43(4),157