Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ขับแซงมาแล้วถูกเฉี่ยวชน รถที่ถูกแซงถือว่าประมาทหรือไม่

ขับแซงมาแล้วถูกเฉี่ยวชน รถที่ถูกแซงถือว่าประมาทหรือไม่

320
0

ขับแซงมาแล้วถูกเฉี่ยวชน รถที่ถูกแซงถือว่าประมาทหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2511

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงตายและบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 1 และ 2 ขับรถแทรกเตอร์และรถยนต์เก๋งมาคนละทางตรงข้ามโดยไม่ขับชิดขอบทางถนนและด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันขณะแล่นสวนกันซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกมาถึงด้วยความเร็วสูง จึงแล่นเข้าชนรถแทรกเตอร์ซึ่งกำลังเสียหลักขวางถนนอยู่ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารในรถแทรกเตอร์ตกจากรถถึงแก่ความตาย 2 คน และบาดเจ็บสาหัส1 คน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 28, 66 และสั่งถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่า พยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และ 2ประมาทส่วนการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นประมาท เพราะเป็นเหตุกระทันหัน แม้หากขับมาด้วยความเร็วตามปกติ ก็จะหลีกเลี่ยงการชนไม่ได้ พิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 และ 2 มิได้ขับชิดขอบถนนด้านซ้ายเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9, 66 และจึงเป็นเหตุให้รถทั้งสองฝ่ายเฉี่ยวชนกัน ซึ่งเป็นเวลาที่รถบรรทุกที่จำเลยที่ 3 ขับแล่นมาถึงพอดี จึงพุ่งเข้าชนรถแทรกเตอร์ เป็นเหตุให้คนบนรถแทรกเตอร์ถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ อันเป็นผลโดยตรงจากความประมาทร่วมกันของจำเลยที่ 1 และ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดเพราะไม่สามารถเลี่ยงการชนได้ทันท่วงที แม้จะใช้ความเร็วตามปกติ พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา9, 66 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 13 แต่ให้ลงโทษโดยกระทงที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ประกอบด้วยมาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 3 ปี กับให้ถอนใบอนุญาตขับรถจำเลยที่ 2 นอกนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และ 2 ฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะจะเกิดเหตุรถแทรกเตอร์ที่จำเลยที่ 1 ขับแล่นมาตามทางซ้ายของถนนด้วยความเร็วปกติ และรถบรรทุกถ่านซึ่งจำเลยที่ 3 ขับกำลังแล่นมาตามทางด้านตรงข้ามใกล้จะสวนกัน ก็เป็นเวลาที่จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋งแซงรถบรรทุกขึ้นมา แต่เมื่อสวนกันรถแทรกเตอร์เกิดเฉี่ยวกับล้อหลังของรถแทรกเตอร์ซึ่งเสียหลักไปขวางทางขวาของถนน จึงถูกรถบรรทุกจำเลยที่ 3 ชนเข้า อันเป็นเหตุกระชั้นชิดฉับพลัน ไม่อาจหลีกเลี่ยงการชนไปได้ การตายและบาดเจ็บสาหัสเห็นได้ว่าเป็นผลโดยตรงมาจากความประมาทของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวตามนัยคำพิพากษาที่ 1011/2503 จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9 ซึ่งบัญญัติให้เดินรถทางด้านซ้ายของทาง มิได้บัญญัติถึงกับให้เดินชิดขอบซ้ายของทาง และหากจะถือเป็นการฝ่าฝืน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวก็สงเคราะห์ได้ว่าเป็นกรรมอันเดียวกันทั้งหมด ซึ่งเข้าลักษณะความผิดตามกฎหมายหลายบทมิใช่เป็นความผิดหลายกระทงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จึงพิพากษาแก้โดยให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและจำเลยที่ 2 เฉพาะสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9, 66 นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์.

สรุป

จำเลยที่ 2 ขับรถแซงรถจำเลยที่ 3 ขึ้นมา ขณะรถจำเลยที่ 3 และที่ 1 ใกล้จะแล่นสวนกันและหลบไม่พ้น.รถของจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกเฉี่ยวเสียหลักขวางถนนและถูกรถจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่สามารถหยุดได้ทัน.พุ่งเข้าชน.เป็นเหตุให้คนบนรถจำเลยที่ 1 ตกลงมาถึงตายและบาดเจ็บสาหัส. เช่นนี้ ถือว่าการตายและบาดเจ็บสาหัสเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1011/2503.

พฤติการณ์อันเข้าลักษณะเป็นประมาท หากเข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 ด้วย. ถือว่าเป็นกรรมอันเดียวกันทั้งหมด. เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท.ไม่เรียกว่าเป็นความผิดหลายกรรม.

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 มาตรา 9 บัญญัติให้รถเดินทางด้านซ้ายของทาง.หาได้บัญญัติถึงกับให้เดินชิดขอบซ้ายของทางอันจะถือเป็นการฝ่าฝืนไม่.