Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ในสัญญาประกันภัย ศาลมีอำนาจวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือไม่

ข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ในสัญญาประกันภัย ศาลมีอำนาจวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือไม่

114
0

ข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ในสัญญาประกันภัย ศาลมีอำนาจวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือไม่

ข้อตกลงในสัญญาใดจะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงจะคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาใบสมัครเอาประกันภัยที่โจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขอสมัครเอาประกันภัยไว้ทุกแผ่น จะเห็นได้ว่ามีข้อความที่อธิบายถึงความหมายของคำว่า ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรไว้หลายที่ โดยเฉพาะในแผ่นที่ 2 จะมีข้อความที่อธิบายถึงความหมายของคำว่าทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรพิมพ์อยู่เหนือบริเวณโจทก์ลงลายมือชื่อและโจทก์ไม่ได้ฎีกาคัดค้านว่าโจทก์ไม่ทราบข้อความดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ทราบถึงเงื่อนไขความรับผิดของจำเลยในกรณีโจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพในระหว่างอายุสัญญาประกันชีวิตแล้ว หากโจทก์เห็นว่าข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยดังกล่าวทำให้เสียเปรียบเกินสมควรโจทก์ก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่เข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยและเลือกทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยที่โจทก์เห็นว่าข้อจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยเป็นประโยชน์แก่โจทก์สูงสุด โจทก์จึงไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนที่จะเข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลย เมื่อโจทก์สมัครใจเข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยก็เท่ากับโจทก์ตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการจำกัดความรับผิดของจำเลยจากกรณีโจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่โจทก์ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่จะตกเป็นโมฆะสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกัน ให้คำจำกัดความของคำว่า ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวร หมายถึง ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ โดยไม่ขาดระยะเป็นอย่างน้อย 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้หรือกรณีดังต่อไปนี้ ตาบอดทั้งสองข้าง การตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือหรือเท้าทั้งสองข้าง การตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือข้างใดข้างหนึ่งและเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ตาบอดข้างใดข้างหนึ่งและการตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือหรือเท้าข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อได้ความตามใบรับรองแพทย์ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560 นายแพทย์ ว. แพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์บันทึกไว้ในใบรับรองแพทย์ว่า โจทก์ต้องพักฟื้นรักษาตัวมีกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนั้น ยังต้องทำกายภาพบำบัดและรอเวลาใส่ขาเทียม อีก 3 ถึง 6 เดือน เห็นได้ว่าเป็นกรณีโจทก์ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ โดยไม่ขาดระยะเป็นอย่างน้อย 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้ เข้าเงื่อนไขของการทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรแล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย โดยได้รับยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยคุ้มครองทุพพลภาพและเบี้ยประกันชีวิตที่ครบกำหนดชำระในระหว่างที่ทุพพลภาพถึงสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัยอันจะมีผลให้กรมธรรม์ชีวิตที่สัญญาฉบับนี้ออกควบอยู่ ยังคงมีสิทธิเป็นกรมธรรม์ที่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดทุกประการ เมื่อโจทก์เข้ารับการผ่าตัดตัดขาซ้ายออกระดับเหนือเข่าลงมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 นับแต่นั้นมาโจทก์ย่อมตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ดังนั้น โจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเบี้ยประกันรายเดือน เดือนละ 2,015.20 บาท ตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2560 จนครบกำหนดระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัญญาประกันภัย แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอส่วนนี้มาแต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดเดือนธันวาคม 2560 ถึงงวดเดือนกรกฎาคม 2561 โดยวิธีหักจากบัญชีธนาคารเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 16,121.60 บาท จำเลยจึงต้องคืนค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวฐานลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งการยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยอันถือได้ว่าเป็นการทวงถามเบี้ยประกันที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวคืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระ จึงถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ทุจริตและตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 415