Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ความผิดตามพรบ.จราจรทางบก สามารถยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่

ความผิดตามพรบ.จราจรทางบก สามารถยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่

260
0

ความผิดตามพรบ.จราจรทางบก สามารถยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 39, 40, 43, 151, 157

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายวีระพันธุ์ เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน บต 999 บุรีรัมย์ ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 57,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 39, 40, 43 (4), 151, 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 57,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรกำหนดโทษให้เบาลงและรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า บริเวณข้างถนนที่เกิดเหตุมีรถยนต์ของชาวบ้านจอดอยู่หลายคันเพราะมีการทำบุญกฐิน ผู้คนพลุกพล่าน จำเลยขับรถยนต์โดยสารซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่ย่อมต้องเพิ่มความระมัดระวัง แต่จำเลยกลับขับรถด้วยความเร็วสูงจนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนด้านท้ายรถยนต์กระบะที่แล่นอยู่ข้างหน้าอย่างแรง รถยนต์กระบะกระเด็นไปชนกับรถยนต์ของชาวบ้านที่จอดอยู่ข้างถนนแล้วพลิกคว่ำทำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 2 คน และได้รับอันตรายแก่กายอีก 2 คน เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น นับเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ แม้จำเลยจะนำเงินมาวางศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ให้แก่ทายาทของผู้ตาย แต่ก็เป็นการกระทำภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ทั้งไม่ปรากฏว่าทายาทของผู้ตายไม่ติดใจเอาความ กรณียังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่สมควรจะกำหนดโทษให้เบาลงและรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์ของตนที่จอดอยู่ถูกรถยนต์กระบะกระเด็นมาชนได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 390 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายหรือเป็นผู้ได้รับอันตรายแก่กาย ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดที่โจทก์ฟ้องดังกล่าว ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 39, 40, 43, 151 และ 157 ที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องจึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำร้องของผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4