Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ความผิดตามพรบ.จราจรทางบก ผู้เสียหายสามารถอุทธรณ์ขอให้ลงโทษหนักขึ้นได้หรือไม่

ความผิดตามพรบ.จราจรทางบก ผู้เสียหายสามารถอุทธรณ์ขอให้ลงโทษหนักขึ้นได้หรือไม่

240
0

ความผิดตามพรบ.จราจรทางบก ผู้เสียหายสามารถอุทธรณ์ขอให้ลงโทษหนักขึ้นได้หรือไม่

ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรงจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับพิจารณาในข้อหานี้โดยกำหนดโทษใหม่เป็นจำคุก 4 ปี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ แล้วเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวาที่มีรถยนต์กระบะของจำเลยแล่นอยู่ โดยผู้ตายไม่ตรวจตรารถที่วิ่งมาในทางตรงให้ปลอดภัยทำให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน ผู้ตายมิได้ใช้ความระมัดระวังในการเปลี่ยนช่องเดินรถถือว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ส่วนจำเลยขับรถยนต์ในขณะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 182 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งประสงค์จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เนื่องจากสุราหรือของมึนเมาทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้โดยง่าย จำเลยขับรถผ่านที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางตรงและเป็นช่วงเวลากลางวัน หากจำเลยไม่อยู่ในอาการมึนเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น จำเลยก็น่าจะหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทันก่อนที่จะเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้น เหตุเฉี่ยวชนจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยด้วยเช่นกัน เมื่อจำเลยมีส่วนประมาท จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อจำเลยและผู้ตายต่างเป็นฝ่ายประมาทก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้น กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ที่บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 223 บัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า จำเลยขับรถยนต์ในขณะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 182 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ค่อนข้างมาก บ่งชี้ว่าจำเลยไม่แยแสต่อผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการขับรถในขณะที่ตนเมาสุรา ทั้งจุดชนอยู่ในช่องเดินรถที่สองนับจากซ้ายมือแสดงว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ขับรถในช่องเดินรถซ้ายสุดตามที่กฎหมายกำหนด บนพื้นถนนก็ไม่ปรากฏว่ามีรอยเบรคของรถยนต์คันที่จำเลยขับ ทั้งที่สถาพบริเวณถนนที่เกิดเหตุจำเลยสามารถมองเห็นรถที่แล่นอยู่ในทิศทางเดียวกับรถของตนได้โดยง่าย ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่า จำเลยมีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าผู้ตาย จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดนั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เท่ากับจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนดเมื่อลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่แล้ว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่งได้อีก และจำเลยยังมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา และมิได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องสำหรับอัตราดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทน ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252