Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ความผิดและความประมาทเลินเล่อของผู้รับจ้างช่วงหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้รับจ้างช่วง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ความผิดและความประมาทเลินเล่อของผู้รับจ้างช่วงหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้รับจ้างช่วง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

224
0

ความผิดและความประมาทเลินเล่อของผู้รับจ้างช่วงหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้รับจ้างช่วง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 980,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 980,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 600,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด สุกัญญา ขนส่ง ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2559 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดในชื่อ บริษัทสุกัญญา ขนส่ง จำกัด และวันที่ 19 เมษายน 2559 จดทะเบียนเปลื่ยนชื่อเป็นบริษัทสุกัญญา ทรานสปอร์ต (1997) จำกัด บริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เคลื่อนย้ายตู้สินค้าอันตรายระหว่างผู้ประกอบการท่าเทียบเรือและลานวางตู้สินค้าเปล่ากับคลังสินค้าอันตรายและขนส่งตู้สินค้าอันตรายหรือสินค้าอันตรายและตู้สินค้าหรือสินค้าทั่วไปไปยังที่ใด ๆ ในประเทศไทย และโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 จัดหารถหัวลากและรถลากพ่วงเพื่อทำการเคลื่อนย้ายสินค้าตามที่โจทก์ทำสัญญากับบริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (จำกัด) โจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งร่วมกันโดยมีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญไม่จดทะเบียน จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันและต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้นำรถบรรทุกลากจูง รถกึ่งพ่วง เข้าร่วมขนส่งกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำประกันภัยรถบรรทุกลากจูงดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 5 มีวงเงินความรับผิดต่อบุคคลภายนอกสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน 600,000 บาท ต่อครั้ง ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพวงบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวเฉี่ยวชนกับรถเทรลเลอร์หัวลาก ของบริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งมีนายฤทธิไกร เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้รถเทรลเลอร์หัวลาก ได้รับความเสียหาย และนายฤทธิไกรได้รับบาดเจ็บสาหัส บริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด เจ้าของรถเทรลเลอร์หัวลากเรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย และโจทก์อ้างว่าโจทก์ตกลงและชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ไปเป็นเงิน 980,000 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ในส่วนความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา เมื่อคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งศาลฎีกาและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่โจทก์แนบมาท้ายคำแก้ฎีกา การถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลดังกล่าวที่ฟังว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุที่ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสคงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายซึ่งได้รับอันตรายแก่กาย ไม่มีผลผูกพันบุคคลซึ่งไม่เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่ โดยเมื่อพิจารณาภาพจากกล้องวงจรปิดจะเห็นได้ว่า ก่อนเกิดเหตุเฉี่ยวชนจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงด้วยความเร็วในช่องเดินรถขวาสุดแซงขึ้นหน้ารถเทรลเลอร์ที่นายฤทธิไกรขับอยู่ทางด้านซ้ายและเฉี่ยวชนกันตรงบริเวณทางแยก ทั้งปรากฏว่ารถเทรลเลอร์ที่นายฤทธิไกรขับมีร่องรอยความเสียหายที่บริเวณหน้ารถทางด้านหน้าฝั่งขวาฉีกขาด มีเศษชิ้นส่วนขนาดใหญ่ของรถที่นายฤทธิไกรขับติดอยู่บริเวณกึ่งกลางรถกึ่งพ่วงที่จำเลยที่ 1 ขับ กับมีเศษชิ้นส่วนที่ตกลงอยู่บนพื้นถนนใกล้ชิดกับหน้ารถที่นายฤทธิไกรขับ แสดงให้เห็นว่าจุดชนล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่นายฤทธิไกรขับ เชื่อว่าเหตุที่เฉี่ยวชนกันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถหักเข้ามาทางด้านซ้ายในช่องเดินรถที่นายฤทธิไกรขับทำให้ส่วนหน้าของรถที่นายฤทธิไกรขับเฉี่ยวชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับ นอกจากนี้หลังเกิดเหตุเฉี่ยวชนแล้ว จำเลยที่ 1 แจ้งต่อพนักงานสอบสวนทันทีว่าตนเองขับรถโดยประมาท เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 1 ถูกบังคับให้ยอมรับหรือต้องการให้ตกลงกับจำเลยที่ 5 ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด ทั้งเป็นการให้การทันทีหลังเกิดเหตุ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ให้การไปตามความจริงที่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า นายฤทธิไกรเป็นฝ่ายขับรถเลี้ยวขวาโดยไม่ชิดขวาและไม่เปิดสัญญาณไฟ จึงเฉี่ยวชนกันบริเวณกลางตู้คอนเทนเนอร์ ก็เป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผลและไม่น่าเชื่อถือเพราะนายฤทธิไกรย่อมต้องเห็นอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 แซงรถขึ้นมาทางด้านขวาและรถดังกล่าวมีความยาวมากจึงเป็นไปไม่ได้ที่นายฤทธิไกรจะหักรถเลี้ยวขวาทันทีทั้งที่เห็นอยู่ว่ารถที่จำเลยที่ 1 ขับยังไม่ผ่านพ้นไป ทั้งขัดแย้งกับภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดวัตถุพยานและภาพถ่ายร่องรอยความเสียหาย ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าความเห็นของนายเกรียงชัย มีน้ำหนักให้รับฟังได้นั้น ก็ปรากฏว่านายเกรียงชัยได้จัดทำเอกสารวิเคราะห์ วัดระยะสัดส่วนของสถานที่ตลอดจนคำนวณความเร็วของรถในภาพจากกล้องวงจรปิดโดยรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียวและเป็นเพียงการให้ความเห็นของนายเกรียงชัยเท่านั้น จึงมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยที่ 2 รับกันและไม่โต้แย้งกันว่า บริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์และจำเลยที่ 2 เข้าร่วมกันประกอบกิจการขนส่ง และมีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการดังกล่าว เมื่อรถเทรลเลอร์ของบริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิด บริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งร่วมกันก็ต้องรับผิดต่อบริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด อย่างลูกหนี้ร่วมกัน ดังนั้น การที่โจทก์ตกลงเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับบริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด จึงมิได้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ทั้งบันทึกการชดใช้ค่าเสียหายก็เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทฮัทชิสันแหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และบริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ตกลงยอมรับเงินค่าเสียหายจากโจทก์เท่านั้น หาใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ซึ่งทำให้หนี้เดิมระงับไปตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า รถเทรลเลอร์ของบริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด เป็นรถเถื่อนหรือรถผิดกฎหมายไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้อง นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายจึงมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายจะยกข้ออ้างดังกล่าวเพื่อปฏิเสธความรับผิดในทางแพ่งหาได้ไม่ และที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า บริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเพียง 1 ใน 3 ส่วนของค่าเสียหายเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดจำนวน 980,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อบริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อบริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด อย่างลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 บัญญัติว่า ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างปรากฏว่าระหว่างบริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด กับโจทก์มีข้อตกลงกันว่าโจทก์ต้องรับผิดในความผิดและความประมาทเลินเล่อของผู้รับจ้างช่วงหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้รับจ้างช่วง และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างช่วงมีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่ออุปัทวเหตุ ความเสียหายหรือภยันตรายใด ๆ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และพนักงานของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อมีข้อตกลงตามสัญญากำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาและเมื่อโจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 980,000 บาท ให้แก่บริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด แล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) และ 296 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

สัญญาจ้างระหว่างบริษัท จ. กับโจทก์มีข้อตกลงกันว่า โจทก์ต้องรับผิดในความผิดและความประมาทเลินเล่อของผู้รับจ้างช่วงหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้รับจ้างช่วง และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างช่วงมีข้อตกลงกันว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่ออุปัทวเหตุ ความเสียหายหรือภยันตรายใด ๆ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และพนักงานของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อมีข้อตกลงตามสัญญากำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และเมื่อโจทก์ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท ฮ. แล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และ 296 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้