Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ความระงับแห่งมูลหนี้ในคดีละเมิด ตามสัญญาประนีประนอมไม่ระงับสิ้นไปได้หรือไม่

ความระงับแห่งมูลหนี้ในคดีละเมิด ตามสัญญาประนีประนอมไม่ระงับสิ้นไปได้หรือไม่

450
0

ความระงับแห่งมูลหนี้ในคดีละเมิด ตามสัญญาประนีประนอมไม่ระงับสิ้นไปได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2564

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 , 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4 , 43 (4) , 157

จำเลย ให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา นางสาวลั่นทม มารดาของเด็กชาย ว. ผู้ตาย และนายมะหาด ผู้เสียหายโดยนางกุหลาบ ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 300 โดยให้เรียกนางสาวลั่นทมและนายมะหาดว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ) กับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับโจทก์ร่วมที่ 1 ได้แก่ ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ เป็นเงิน 145,000 บาทค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไป 39,105 บาท ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย 864,000 บาท ค่าซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ 20,000 บาทค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายตั้งแต่เกิดจนถึงแก่ความตายเป็นเงิน 400,000 บาทรวม 1,468,105 บาท แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ประสงค์เพียง 1,400,000 บาท ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไป 192,602 บาทค่าเสียความสามารถประกอบการงานในเวลาอนาคต 200,000 บาท ค่าเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน 50,000 บาท ค่าตกใจ 30,000 บาท ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย 30,000 บาท รวม 502,602 บาท แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ประสงค์เพียง 500,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 184,105 บาท นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และชดใช้เงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 42,602 บาท นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 2

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การในคดีส่วนแพ่งว่า คำร้องเคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร เมื่อใด สาเหตุใด ผลเป็นอย่างไรใครเป็นผู้เสียหาย ค่าสินไหมทดแทนสูงเกินความจริง ก่อนยื่นคำร้องจำเลยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองจำนวน 570,000 บาท และ 132,998 บาท ตามลำดับ ซึ่งโจทก์ร่วมทั้งสองพอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลย ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 , 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) , 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 , 30 (ที่ถูก ให้ยกคำร้องในคดีส่วนแพ่ง)

โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 498,105 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 184,105 บาท นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2561 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ค่าสินไหมทดแทน 39,604 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2561 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแห่งทั้งสองศาลให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาคดีส่วนแพ่ง โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับในส่วนคดีอาญา จำเลยให้การรับสารภาพศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 , 200 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) , 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า มูลละเมิดตามคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมทั้งสองระงับไปเพราะสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ท. ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองสิ้นสิทธิเรียกร้องจากจำเลย นั้น เห็นว่า จำเลยผู้เป็นฝ่ายทำละเมิดจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองเต็มจำนวนอยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะได้เอาประกันภัยไว้หรือไม่การที่บุตรของจำเลยเอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท. ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนก็เพื่อให้บริษัท ท. ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแทนตนภายในวงเงินประกันภัยซึ่งโจทก์ร่วมทั้งสองผู้เป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยหรือบริษัท ท. คนหนึ่งคนใดหรือทั้งสองคนก็ได้ แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ท. ผู้รับประกันภัยเกินไปกว่าจำนวนอันจะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์ร่วมทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ท. ผู้รับประกันภัย โดยยอมรับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย มีผลเพียงทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดในเงินจำนวนที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้นส่วนค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่นอกเหนือจากสัญญาจำเลยยังคงต้องรับผิดจนเต็มจำนวน ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับบริษัท ท. ที่จะไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและเอาความกันต่อไป ไม่เกี่ยวกับจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้มูลละเมิดตามคำร้องระงับสิ้นไป จึงไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งตามคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ทั้งที่โจทก์ร่วมทั้งสองมิได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์ จึงเป็นคำวินิจฉัยนอกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองและเกินคำขอ เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยจนเต็มจำนวน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นให้พิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ก็ได้ อำนาจที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่นี้เป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่หากศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีด้วยความเที่ยงธรรมได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้เสียเวลา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็สามารถวินิจฉัยคดีไปได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องและคำให้การคดีส่วนแพ่งที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยนั้น ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานคดีส่วนแพ่งเสร็จสิ้นแล้วจึงได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวตามพยานหลักฐานในสำนวน และพิพากษาตามคำขอท้ายคำร้องทั้งค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดนั้นเหมาะสมดีแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชกำหนดแก้ไขมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องดอกเบี้ย มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยกฎหมายใหม่ให้ใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดจึงเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 498,105 บาทพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 184,105 บาท นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ค่าสินไหมทดแทน 39,604 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 2 อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

สรุป

จำเลยผู้เป็นฝ่ายทำละเมิดจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองเต็มจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะได้เอาประกันภัยไว้หรือไม่ การที่บุตรของจำเลยเอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท. ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนก็เพื่อให้บริษัท ท. ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแทนตนภายในวงเงินประกันภัย ซึ่งโจทก์ร่วมทั้งสองผู้เป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยหรือบริษัท ท. คนหนึ่งคนใดหรือทั้งสองคนก็ได้ แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ท. ผู้รับประกันภัยเกินไปกว่าจำนวนอันจะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์ร่วมทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ท. ผู้รับประกันภัย โดยยอมรับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย มีผลเพียงทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดในเงินจำนวนที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ส่วนค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่นอกเหนือจากสัญญาจำเลยยังคงต้องรับผิดจนเต็มจำนวน ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับบริษัท ท. ที่จะไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและเอาความกันต่อไป ไม่เกี่ยวกับจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้มูลละเมิดตามคำร้องระงับสิ้นไป จึงไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิด