Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ คำขอเอาประกันภัย ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยหรือไม่

คำขอเอาประกันภัย ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยหรือไม่

116
0

คำขอเอาประกันภัย ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,352,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และให้พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้นให้จำเลยที่ 2 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัยทุกประเภท โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 มีวงเงินสินเชื่อรวมหลายประเภท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9493 และ 9494, 22666 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นหลักประกันในวงเงิน 12,000,000 บาท มีข้อตกลงว่าโจทก์จะต้องเอาประกันภัยและต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์ที่เป็นหลักประกันประเภทคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิด โดยระบุให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์ หากโจทก์ไม่ดำเนินการเอาประกันภัยดังกล่าวยินยอมให้จำเลยที่ 1 จัดการเอาประกันภัยแทนโจทก์ได้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองในนามของโจทก์ จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ โดยให้มีผลคุ้มครองเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2555 เกิดลมพายุทำให้อาคารโรงงาน สำนักงานและบ้านพักคนงานของโจทก์บนที่ดินดังกล่าวได้รับความเสียหาย โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่ากรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองถึงภัยที่เกิดจากลมพายุ

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเป็นนิติกรรมสองฝ่ายที่คู่สัญญามีคำเสนอและคำสนองต้องตรงกัน ที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัย โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาไว้ ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเพียงหลักฐานการรับประกันที่ผู้รับประกันภัยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อแสดงว่าตนได้เข้ารับประกันการเสี่ยงภัยนั้นไว้แล้ว หาใช่เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใดไม่ โจทก์ฟ้องและนำสืบได้ความว่า โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9493 และ 9494, 22666 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นหลักประกันหนี้รวม 3 ประเภท ไว้แก่จำเลยที่ 1 และนำทรัพย์อันเป็นหลักประกันดังกล่าวมาทำประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรวมถึงภัยเพิ่มพิเศษคือลมพายุ และจำเลยที่ 2 รับประกันวินาศภัยดังกล่าวไว้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบรับว่าได้รับประกันภัยทรัพย์ที่เอาประกันภัยนั้นไว้จากโจทก์จริง โดยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยและใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแล้ว แต่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้คุ้มครองถึงภัยพิเศษจากลมพายุ กรณีจึงมีปัญหาแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญารับประกันภัยให้ไว้แก่โจทก์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัยโดยรวมความคุ้มครองถึงภัยพิเศษจากลมพายุหรือไม่เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า วันที่ 18 เมษายน 2555 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองในนามของโจทก์ โดยให้มีผลคุ้มครองเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ซึ่งในข้อ 12 ระบุความคุ้มครองภัยเพิ่มพิเศษรวมถึงลมพายุไว้ด้วย และต่อมาจำเลยที่ 2 ออกกรมธรรม์ประกันภัย โดยเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ได้ให้ คำจำกัดความ คำว่า “กรมธรรม์ประกันภัย” หมายความรวมถึง ใบคำขอเอาประกันด้วย ดังนั้น ใบคำขอเอาประกันภัย จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยว่า ทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 พิจารณารับประกันวินาศภัยในทรัพย์ที่เอาประกันภัยของโจทก์และถือว่าเป็นวันที่คำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 2 ตรงกัน อันเป็นวันที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณารับประกันภัยของผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ในการสืบพยานต่อศาลชั้นต้น ทั้งที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 และไม่ยากแก่การนำสืบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่คุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุ จำเลยที่ 2 กลับนำสืบกล่าวอ้างแต่เพียงว่ากรมธรรม์ประกันภัยมีเอกสารแนบท้าย และเอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุความคุ้มครองถึงภัยลมพายุ ทั้งที่กรมธรรม์ประกันภัยออกเป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่เกิดวินาศภัยในคดีนี้ โดยเฉพาะหากจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะคุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษเพิ่มเติมเกี่ยวกับลมพายุก็ควรจะโต้แย้งหรือแจ้งต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์เสียแต่ในโอกาสแรก มิใช่ปล่อยให้ระยะเวลาคุ้มครองเริ่มต้นนับแต่วันที่ยื่นคำขอเอาประกันภัย หรือมิฉะนั้นก็สามารถกำหนดเป็นข้อยกเว้นความรับผิดไว้โดยชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย แต่จำเลยที่ 2 หาได้ดำเนินการเช่นว่านั้นไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยจากโจทก์โดยรวมถึงภัยอันเกิดจากลมพายุตามที่มีการระบุไว้ในใบคำขอเอาประกันภัยตามข้ออ้างของโจทก์ เมื่ออาคารสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยได้รับความเสียหายจากลมพายุพัด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิจารณาจากคำเบิกความของนายชัชวาล พยานโจทก์ผู้รับจ้างก่อสร้างรายใหม่ที่เบิกความประกอบใบเสร็จรับเงิน และตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า การก่อสร้างอาคารหลังใหม่แข็งแรงกว่าอาคารหลังเดิมเนื่องจากต้องป้องกันลมพายุด้วย แสดงว่าอาคารที่ก่อสร้างใหม่ต้องมีราคาก่อสร้างสูงกว่าอาคารหลังเดิมเพราะใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพดีและมั่นคงแข็งแรงมากกว่า เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าอาคารหลังเดิมที่ได้รับความเสียหายราคาเท่าใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,000,000 บาท มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี…และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้นถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 สัญญาประกันภัยเป็นนิติกรรมสองฝ่ายที่คู่สัญญามีคำเสนอคำสนองต้องตรงกันที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยด้วย กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาไว้ ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเพียงหลักฐานการรับประกันที่ผู้รับประกันภัยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อแสดงว่าตนได้เข้ารับประกันความเสี่ยงภัยนั้นไว้แล้ว หาใช่เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองในนามของโจทก์ตามใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งในข้อ 12 ระบุความคุ้มครองภัยเพิ่มพิเศษรวมถึงลมพายุไว้ด้วย และต่อมาจำเลยที่ 2 ออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ได้ให้คำจำกัดความคำว่า กรมธรรม์ประกันภัย หมายความรวมถึง ใบคำขอเอาประกันด้วย ดังนั้น ใบคำขอเอาประกันภัยจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ยังปรากฏข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยว่าทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 พิจารณารับประกันวินาศภัยในทรัพย์ที่เอาประกันภัยของโจทก์ และถือว่าเป็นวันที่คำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 2 ตรงกันอันเป็นวันที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และจำเลยที่ 2 ไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณารับประกันภัยของผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ในการสืบพยานต่อศาลชั้นต้นทั้งที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 และไม่ยากแก่การนำสืบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่คุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุ และกรมธรรม์ประกันภัยออกเป็นหลักฐานเมื่อวันหลังจากที่เกิดวินาศภัยในคดีนี้ หากจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะคุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุก็ควรโต้แย้งหรือแจ้งต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์เสียแต่ในโอกาสแรก แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยจากโจทก์โดยรวมถึงภัยอันเกิดจากลมพายุตามที่มีการระบุในใบคำขอเอาประกันภัยตามข้ออ้างของโจทก์