Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าขาดไร้อุปการะมีได้หรือไม่

ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าขาดไร้อุปการะมีได้หรือไม่

228
0

ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าขาดไร้อุปการะมีได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามขอให้เรียกบริษัท ท. และบริษัท ส. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกว่าจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยร่วมทั้งสองอ้างว่า จำเลยร่วมทั้งสองได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ครบจำนวนตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสามฉบับแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยร่วมทั้งสองออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมนัส ผู้ตาย จำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รถยนต์บรรทุกพ่วงส่วนหัวลาก และส่วนพ่วง ระยะเวลาประกันภัยระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 ส่วนจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยภาคสมัครใจรถยนต์บรรทุกพ่วงส่วนหัวลาก ระยะเวลาประกันภัยระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ในระหว่างระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 1 ทำละเมิดขับรถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยร่วมทั้งสองรับประกันภัยไปตามถนนสายหนองชาก – พนัสนิคม จากด้านตำบลหนองอิรุณมุ่งหน้าไปอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ด้วยความประมาท เมื่อถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดรถเพื่อไม่ให้ชนรถคันหน้าจึงขับรถยนต์บรรทุกพ่วงหลบเข้าไปในทางเดินรถฝั่งตรงข้ามเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับมา ทำให้รถยนต์ของผู้ตายเสียหาย ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุ พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรียื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ระหว่างพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 1 วางเงินบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 จำนวน 5,000 บาท วันที่ 4 สิงหาคม 2560 จำนวน 10,000 บาท และวันที่ 5 ตุลาคม 2560 จำนวน 25,000 บาท รวมเป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับไปแล้วตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น และคำร้องขอวางเงินของจำเลยที่ 1 จำเลยร่วมที่ 2 วางเงินชำระค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา 300,000 บาท เต็มตามวงเงินคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ซึ่งโจทก์ได้รับไปแล้ว ส่วนจำเลยร่วมที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนหัวลากและส่วนพ่วงกรมธรรม์ละ 300,000 บาท รวม 2 กรมธรรม์เป็นเงิน 600,000 บาท เต็มตามความคุ้มครองแล้ว ดังนี้ วันที่ 21 เมษายน 2560 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่าปลงศพตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนหัวลาก 35,000 บาท ให้แก่บริษัท ป. ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฒน 8143 ที่ผู้ตายขับ วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ชำระค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เหลือตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนหัวลากอีก 265,000 บาท ให้แก่โจทก์ และวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เหลือตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนพ่วง 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประเด็นนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ 2,160,000 บาท โจทก์ไม่ฎีกา จำนวนค่าขาดไร้อุปการะจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงข้อเดียวว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำเงิน 600,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับจากจำเลยร่วมที่ 1 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาหักออกจากค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า กรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถสำหรับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุส่วนหัวลากและส่วนพ่วงกำหนดให้จำเลยร่วมที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยระบุจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิต ส่วนจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นสำหรับความเสียหายต่อชีวิตกำหนดไว้เป็นเงิน 35,000 บาท และกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยังระบุด้วยว่า จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย แสดงว่าในกรณีที่ผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนส่วนแรกเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไป 35,000 บาทแล้ว ย่อมนำมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยที่ผู้รับประกันภัยต้องชำระทั้งหมด 300,000 บาทได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ประสบภัยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยจากผู้รับประกันภัยอีกเพียง 265,000 บาท การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถดังกล่าวอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งมาตรา 4 ให้คำจำกัดความค่าเสียหายเบื้องต้นในกรณีทำให้เขาถึงตาย ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น และผู้ประสบภัยหมายความรวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยที่ถึงแก่ความตายด้วย เช่นนี้ เฉพาะแต่ค่าสินไหมทดแทนส่วนแรกที่เป็นค่าเสียหายเบื้องต้นซึ่งผู้รับประกันภัยชำระแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยเท่านั้นที่ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ไม่รวมถึงค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าขาดไร้อุปการะตามที่โจทก์ฟ้องเรียกมา การที่ศาลล่างทั้งสองนำเงินค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนหัวลากและส่วนพ่วง กรมธรรม์ละ 35,000 บาท รวม 2 กรมธรรม์เป็นเงิน 70,000 บาท หักออกจากค่าขาดไร้อุปการะที่กำหนดให้โจทก์จึงไม่ถูกต้อง ส่วนค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 265,000 บาท นั้น เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มิได้บัญญัติไว้เฉพาะว่าเป็นความคุ้มครองความเสียหายในส่วนใด ทั้งกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของจำเลยร่วมที่ 1 ระบุว่า เป็นความคุ้มครองสำหรับการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนี้จึงถือเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการทำละเมิดกรณีผู้ถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย ซึ่งรวมถึงค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ฟ้องเรียกมาด้วย อย่างไรก็ตาม คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามเอกสารท้ายคำแถลงของจำเลยร่วมที่ 1 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ว่า จำเลยร่วมที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนหัวลากให้แก่โจทก์ 265,000 บาท โดยระบุรายการสินไหมว่าเป็นค่าปลงศพ และชำระค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกับค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนพ่วงให้แก่โจทก์ 300,000 บาท โดยระบุรายการสินไหมว่าเป็นค่าปลงศพเช่นเดียวกัน และโจทก์ได้รับเงินทั้งสองจำนวนไปครบถ้วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 1 ว่า ทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนหัวลากและรถยนต์บรรทุกส่วนพ่วงเป็นจำนวนเงินเพื่อชดเชยค่าปลงศพเพียงอย่างเดียว ไม่รวมถึงค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ฟ้องเรียกมาด้วย จึงไม่อาจนำเงินซึ่งจำเลยร่วมที่ 1 ชำระแก่โจทก์เป็นค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถยนต์บรรทุกส่วนหัวลากและส่วนพ่วงกรมธรรม์ละ 265,000 บาท รวม 2 กรมธรรม์เป็นเงิน 530,000 บาท นี้ไปหักออกจากค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำเงิน 600,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับจากจำเลยร่วมที่ 1 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาหักออกจากค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น คดีนี้ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ 2,160,000 บาท เมื่อหักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ 40,000 บาท และหักเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ภาคสมัครใจที่จำเลยร่วมที่ 2 ชำระแก่โจทก์ 300,000 บาท แล้ว คงเหลือเงินซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 1,820,000 บาท สำหรับความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าว โจทก์มีคำขอท้ายฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงกำหนดดอกเบี้ยให้ตามช่วงระยะเวลาที่โจทก์ขอ

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยกำหนดค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ 2,160,000 บาท แต่ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมทั้งสองชำระแก่โจทก์แล้วหักออกจากค่าขาดไร้อุปการะที่กำหนดให้ คงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ 1,220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาเฉพาะประเด็นที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไม่นำเงิน 600,000 บาท ที่จำเลยร่วมที่ 1 ชำระตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปหักออกจากจำนวนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด ซึ่งหากศาลฎีกาพิพากษาให้ตามคำขอท้ายฎีกาของโจทก์ โจทก์จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาอีก 600,000 บาท ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาจึงเท่ากับส่วนต่างของจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากับจำนวนเงินที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คือ 600,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 12,000 บาท และค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท ในส่วนดอกเบี้ย แต่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 26,500 บาท เกินมา 14,400 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมานี้แก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,820,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมา 14,400 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2