Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ค่าสินไหมทดแทนเนื่องมาจากการทำละเมิด ถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันใด

ค่าสินไหมทดแทนเนื่องมาจากการทำละเมิด ถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันใด

213
0

ค่าสินไหมทดแทนเนื่องมาจากการทำละเมิด ถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2529

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดา โจทก์ที่ 2 เป็นภรรยาของนายเขจ ได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากนายเขจตลอดมาวันเกิดเหตุนายเขจซื้อตั๋วโดยสารของจำเลยที่ 1 โดยสารจากกรุงเทพมหานคร ไปจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจำเลยที่ 1 จัดให้โดยสารไปกับรถของจำเลยที่ 2 ครั้นรถดังกล่าวแล่นไปตามถนนเพชรเกษมถึงที่เกิดเหตุได้ชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ด้วยความประมาทของผู้ขับรถทั้งสองคัน เป็นเหตุให้นายเขจ ซึ่งโดยสารมากับรถถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองจัดการศพของนายเขจสิ้นเงินประมาณ20,000 บาท และโจทก์ทั้งสองต้องขาดไร้อุปการะขอค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 180,000 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถโดยสาร และไม่ได้จัดให้นายเขจผู้ตายโดยสารไปกับรถคันดังกล่าวค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน 20,000 บาท ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์คนไหนขาดไร้อุปการะอย่างไร จำเลยที่ 1 ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน200,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1ถึงแก่กรรม นาวาอากาศเอกขนุน ผู้เป็นบุตรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับค่าขาดไร้อุปการะและเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เคลือบคลุมหรือไม่นั้น…เห็นว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ขอนั้น เป็นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมาย แม้จะไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ควรได้เป็นรายเดือน รายปี คนละเท่าไร เป็นเวลานานเท่าใดก็ตาม เมื่อได้ระบุจำนวนที่ขอมา ศาลก็พิจารณากำหนดให้ตามที่เห็นสมควร…ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพนายเขจผู้ตายให้โจทก์หรือไม่นั้นเห็นว่า แม้รถทัวร์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. 26372 ที่นายเขจ ผู้ตายโดยสารไป จะไม่ใช่รถของจำเลยที่ 1 คนขับรถก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ได้ความว่าจากคำฟ้องและคำเบิกความของนายอัญชัน เศรษฐภักดีพยานจำเลยว่า จำเลยที่ 1 เช่ารถทัวร์คันดังกล่าวมาวิ่งรับส่งคนโดยสารแทนรถทัวร์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเสียวิ่งรับส่งคนโดยสารไม่ได้เมื่อข้อเท็จจริงได้ความอย่างนี้ เห็นว่าการที่คนขับรถทัวร์ได้ขับรถทัวร์ในกิจการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดและใช้ให้คนขับรถทัวร์กระทำตามนั้น คนขับรถทัวร์จึงเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการนั้นด้วยตนเอง หรือคนขับรถทัวร์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 นั่นเอง เมื่อคนขับรถทัวร์ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 425…

ปัญหาว่าโจทก์ควรได้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเพียงใดนั้น …เห็นว่านายเขจผู้ตายมีการศึกษาสำเร็จขั้นปริญญาตรีมีอาชีพรับราชการเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่และมีเกียรติฐานะทางสังคม ที่โจทก์ขอค่าปลงศพนายเขจเป็นเงิน 20,000 บาท เป็นจำนวนพอสมควร การตายของนายเขจทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและภรรยาขาดไร้อุปการะโจทก์ขอค่าขาดไร้อุปการะรวมเป็นเงิน 180,000 บาท ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าขาดไร้อุปการะคนละ 90,000 บาท พิจารณาถึงฐานะตำแหน่งของผู้ตายและโจทก์ผู้รับแล้วเห็นว่า เฉพาะโจทก์ที่ 1มีอายุ 90 ปีเศษขณะยื่นฟ้อง และได้ถึงแก่กรรมเมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะต้องพิจารณาถึงโอกาสแห่งการมีชีวิตอยู่ของผู้ขอด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาทจึงสูงไป โจทก์ที่ 1 ควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพียง 45,000 บาทกรณีเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ เห็นสมควรให้มีผลถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้ฎีกาด้วย ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้นเห็นว่าเป็นจำนวนที่สมควรแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดเสมือนกับเป็นลูกหนี้ร่วม จะต้องปรากฏว่าในการละเมิดหรือการก่อหนี้ลูกหนี้ทุกคนต้องมีเจตนาร่วมกัน คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยทุกคนที่เจตนาร่วมกัน หากจำเลยทุกคนต้องรับผิดควรแบ่งความรับผิดเป็นส่วน ๆ ซึ่งตนมีส่วนละเมิดเท่านั้น ไม่ใช่ต้องมารับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมนั้น เห็นว่า เหตุละเมิดคดีนี้เกิดจากการขับรถยนต์โดยประมาทของคนขับรถทั้งสองคัน ทำให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นตัวการและเป็นนายจ้างร่วมรับผิดกับคนขับรถทั้งสองคัน ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าจำเลยคนใดต้องรับผิดเฉพาะส่วนไหนเท่าใด จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันในความเสียหายดังกล่าว ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คิดดอกเบี้ยในเงินค่าขาดไร้อุปการะนับแต่วันฟ้องเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าค่าขาดไร้อุปการะเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากรณีละเมิดเช่นเดียวกับค่าเสียหายอื่นซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ให้ถือว่าจำเลยผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในเงินค่าขาดไร้อุปการะนับแต่วันฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 155,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000บาท แทนโจทก์

สรุป

คดีฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดแม้จะมิได้บรรยายฟ้องว่าค่าขาดไร้อุปการะเป็นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายโจทก์ที่1ที่2ควรได้เป็นรายเดือนรายปีคนละเท่าใดแต่เมื่อได้ระบุจำนวนที่ขอมาศาลก็พิจารณากำหนดให้ได้ไม่เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่1ประกอบกิจการรถทัวร์ได้เช่ารถทัวร์คันเกิดเหตุมาใช้แทนรถของจำเลยที่1ที่เสียการที่คนขับรถทัวร์ขับรถทัวร์ในกิจการของจำเลยที่1โดยจำเลยที่1เป็นผู้กำหนดให้คนขับกระทำคนขับจึงเป็นผู้กระทำการแทนของจำเลยที่1ถือว่าจำเลยที่1กระทำการนั้นด้วยตนเองเมื่อคนขับรถทัวร์กระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่1ในฐานะตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดตามป.พ.พ.มาตรา427ประกอบมาตรา425 การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะต้องพิจารณาถึงโอกาสแห่งการมีชีวิตของผู้ขอด้วยขณะยื่นฟ้องโจทก์มีอายุ90ปีเศษและถึงแก่กรรมเมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์จึงควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะน้อยลง เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถโดยประมาทของคนขับรถทั้งสองคันทำให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นตัวการและนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าจำเลยคนใดต้องรับผิดเฉพาะส่วนไหนเท่าใดจำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายนั้น ค่าขาดไร้อุปการะเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากกรณีละเมิดถือว่าจำเลยผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด.