Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

549
0

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2531

โจทก์ฟ้องว่า พนักงานขับรถของจำเลยได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกอย่างแรงเป็นเหตุให้สามีโจทก์ที่ 1 บุตรโจทก์ที่ 2 และมารดาโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 21 ได้รับบาดเจ็บ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยเป็นเงิน 3,793,705 บาท ให้โจทก์แต่ละคน และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน3,529,030 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ใช่นายจ้างของพนักงานขับรถคันเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุพนักงานขับรถดังกล่าวไม่ได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลย เหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุก ค่าเสียหายแต่ละคนสูงเกินความจริงบางอย่างโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่1 เป็นเงิน 520,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 150,000 บาท ให้โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 81,828 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น 81,728 บาท)ให้โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 41,213 บาท ให้โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน211,306 บาท ให้โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 18,010 บาท ให้โจทก์ที่7 เป็นเงิน 117,236 บาท ให้โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 20,155 บาท ให้โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 139,370 บาท ให้โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน29,408 บาท ให้โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 35,941 บาท ให้โจทก์ที่12 เป็นเงิน 94,130 บาท ให้โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 222,939 บาทให้โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 50,072 บาท ให้โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน18,049 บาท ให้โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 52,390 บาท ให้โจทก์ที่17 เป็นเงิน 18,001 บาท ให้โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 13,960 บาทให้โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 13,774 บาท ให้โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน45,670 บาท ให้โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 19,655 บาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย (ค่ารถขนคนเจ็บ) ให้โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 21เป็นเงิน 14,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวนที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ นับจากวันที่ 14 เมษายน 2521 จนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จด้วย คำขอของโจทก์นอกจากที่กล่าวให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นคำนวณค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ผิดจากพยานเอกสารของโจทก์ ส่วนนอกนั้นเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 207,241 บาทและโจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 17,955 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…พิเคราะห์แล้ว ฎีกาของจำเลยพอสรุปได้ดังนี้

ข้อ 1 บริษัทไทยโฮย่าเลนซ์ จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ไปแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนซ้ำซ้อนจากจำเลยอีก…

ข้อ 3 ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาลค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ และค่าไร้อุปการะให้จำเลยรับผิดสูงเกินไป รวมทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เป็นค่าทนทุกข์ทรมานค่ารอยแผลเป็นติดตัว และค่าพักการเรียน

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แม้จะฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันปรากฏว่า โจทก์ที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 21 แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมีจำนวนไม่เกิน 50,000บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ดังนี้ ฎีกาข้อ 2กับข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ที่ 15 ที่ 17 และที่ 21 สูงเกินไป อันเป็นฎีกาโต้แย้งคัดค้านทำนองว่าศาลล่างทั้งสองไม่ฟังข้อเท็จจริงตามที่ควรจะฟังนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยเฉพาะในส่วนที่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์นอกนั้น และฎีกาข้อแรกกับข้อที่ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เป็นค่าทนทุกข์ทรมาน ค่ารอยแผลเป็นติดตัว และค่าพักการเรียน ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเรียงตามลำดับไป

ฎีกาข้อแรกของจำเลยนั้น ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์เคยสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ในข้อนี้ไว้เป็นอุทธรณ์มาแล้ว โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องบางอย่างสูงเกินความจริงและบางอย่างไม่มีสิทธิเรียกร้องได้ตามกฎหมาย มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นว่า โจทก์ได้รับชำระค่าเสียหายไปเรียบร้อยแล้วจะเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนอีกไม่ได้ เป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นซึ่งคำสั่งศาลอุทธรณ์เช่นนี้ ย่อมถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 จำเลยฎีกาในประเด็นข้อนี้ต่อไปไม่ได้…

ฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยตลอดจนกำหนดค่าสินไหมทดแทนความเสียหายโดยคำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ดำเนินธุรกิจประกอบอาชีพนำคนโดยสารไปทัศนาจร ตามความร้ายแรงแห่งการละเมิดที่โจทก์แต่ละคนได้รับความเสียหายพอสมควรตามรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าทนทุกข์ทรมาน ค่ารอยแผลเป็นติดตัวและค่าพักการเรียนนั้น เห็นว่า การทนทุกข์ทรมานบังเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพร่างกายและจิตใจผิดปกติหรือเสื่อมสุขภาพอนามัย ทำให้หย่อนสมรรถภาพในการศึกษาและในการประกอบอาชีพหรือทำให้ทางทำมาหาได้ลดน้อยลงกว่าปกติ สำหรับการมีรอยแผลเป็นติดตัวหรือกรณีของโจทก์ที่ 9 ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าขวาพิการทำให้เส้นประสาทขาขาดและขาลีบซึ่งพอถือได้ว่ามีรอยแผลเป็นติดตัวนั้น ก็เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่เป็นตัวเงิน และไม่ซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนในกรณีอื่นทั้งการทนทุกข์ทรมานหรือเสื่อมสุขภาพอนามัยและการมีรอยแผลเป็นติดตัวก็เป็นผลโดยตรงแห่งการละเมิดของจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยผู้กระทำละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444และมาตรา 446 ส่วนกรณีของโจทก์ที่ 12 ได้รับบาดเจ็บแขนหักมีอาการชา ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ให้20,000 บาทนั้น ไม่ได้ความแน่นอนว่าอาการชาดังกล่าวคงมีอยู่ตลอดไป ทั้งปรากฏว่า ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าทนทุกข์ทรมานให้โจทก์ที่ 12 ด้วยแล้ว จึงไม่สมควรได้รับชดเชยในการนี้อีก และกรณีของโจทก์ที่ 14 ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนของความเจ็บป่วยและประสาทเท้ายังไม่หายเป็นปกติให้ 10,000 บาท ก็ไม่ได้ความว่า อาการดังกล่าวคงมีอยู่ตลอดไปหรือไม่เช่นกัน กลับได้ความตามฟ้องแต่เพียงว่ามีอาการเสียวเจ็บเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น ไม่พอถือว่าโจทก์ที่ 14 ได้รับบาดเจ็บมีรอยแผลเป็นติดตัว นอกจากนี้โจทก์ที่ 14 ก็มิได้ขอให้จำเลยรับผิดในส่วนที่เป็นค่าทนทุกข์ทรมานแต่อย่างใด จึงยังไม่สมควรกำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 14 ส่วนค่าสินไหมทดแทนในส่วนของโจทก์ที่ 7 และที่ 9 ในกรณีได้รับบาดเจ็บเป็นเหตุให้ต้องพักการศึกษาเล่าเรียน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดนั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายในเรื่องละเมิดให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีต้องพักการศึกษาเล่าเรียนโจทก์ที่ 7 และที่ 9 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในการนี้

สรุปข้อวินิจฉัยดังกล่าวมา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วนหรือเฉพาะข้อที่ฎีกาคัดค้านค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ชดใช้ให้โจทก์ที่ 7 และที่ 9 ในกรณีค่าพักการเรียน และสำหรับโจทก์ที่ 12 ในกรณีค่าแขนหักมีอาการชา กับโจทก์ที่14 ในกรณีเท้าเจ็บ โดยจำเลยไม่ต้องรับผิด ให้หักจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิดในกรณีดังกล่าวออกเสีย คงให้รับผิดต่อโจทก์ที่ 7 ที่ 9 ที่ 12 และที่ 14 ลดลงเหลือ 105,236 บาท 127,370 บาท 74,130 บาท และ 40,072บาท ตามลำดับ ส่วนฎีกาของจำเลยนอกนั้นฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่7 ที่ 9 ที่ 12 และที่ 14 เป็นเงิน 105,236 บาท 127,370 บาท 74,130บาท และ 40,072 บาท ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 21 เป็นเงิน 2,000 บาท 800 บาท 700 บาท 600บาท 700 บาท 600 บาท 700 บาท 600 บาท 700 บาท 600 บาท 600 บาท 600บาท 800 บาท 600 บาท 600 บาท 700 บาท 600 บาท 600 บาท 600 บาท600 บาท และ 600 บาท ตามลำดับ’

สรุป

ในคดีฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการละเมิด โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แม้จะฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน ปรากฏว่าโจทก์ที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 21 แต่ละคนเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่เกิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248

จำเลยอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์เคยสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ในข้อดังกล่าวมาแล้ว คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นนี้ย่อมถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง จำเลยหาอาจฎีกาต่อไปได้ไม่

การทนทุกข์ทรมานบังเกิดขึ้นจากสภาพร่างกายและจิตใจผิดปกติหรือเสื่อมสุขภาพอนามัย ทำให้หย่อนสมรรถภาพในการศึกษาและในการประกอบอาชีพหรือทำให้ทางทำมาหาได้ลดน้อยลงกว่าปกติและการมีรอยแผลเป็นติดตัวหรือกรณีของโจทก์ที่ 9 ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าขวาพิการทำให้เส้นประสาทขาขาดและขาลีบซึ่งพอถือได้ว่ามีรอยแผลเป็นติดตัวนั้น เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่เป็นตัวเงิน และไม่ซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนในกรณีอื่น ทั้งการทนทุกข์ทรมานหรือเสื่อมสุขภาพอนามัยและการมีรอยแผลเป็นติดตัวเป็นผลโดยตรงแห่งการละเมิดของจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยผู้กระทำละเมิดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา444 และ 446

การได้รับบาดเจ็บจนเป็นเหตุให้ต้องพักการศึกษาเล่าเรียนไม่มีกฎหมายในเรื่องละเมิดให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน.(ที่มา-ส่งเสริม)