Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ค่าเสียเวลาเนื่องจากไม่ได้ใช้รถที่ถูกชน ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ค่าเสียเวลาเนื่องจากไม่ได้ใช้รถที่ถูกชน ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

305
0

ค่าเสียเวลาเนื่องจากไม่ได้ใช้รถที่ถูกชน ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1253/2515

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์เลขทะเบียน ร.บ.๐๓๒๙๒ ของจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๐๘นายแสด ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทกล่าวคือขับด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไปตามถนนสุขุมวิท โฉมหน้าไปทางจังหวัดสมุทรปราการห้ามล้อรถหยุดไม่ทันจึงชนท้ายรถยนต์โจทก์โดยแรง เป็นเหตุให้รถยนต์โจทก์ทั้ง ๆ ที่ห้ามล้ออยู่เคลื่อนไปข้างหน้าและชนท้ายรถเก๋งหมายเลข ก.ท.ว ๔๖๖๔ ของร้อยตำรวจเอกส้ม แทนขำ ซึ่งจอดติดรถคันอื่นอยู่ข้างหน้ารถโจทก์เป็นเหตุให้รถของโจทก์กับรถของร้อยตำรวจเอกส้มเสียหายเฉพาะรถโจทก์เสียหายทางด้านหน้า ด้านหลัง และส่วนอื่น ๆ อีกโจทก์ต้องเสียเงินค่าซ่อม ค่าเครื่องอะไหล่ และอุปกรณ์ทั้งสิ้น ๑๗,๔๗๕บาท และเมื่อรถยนต์โจทก์ถูกชนใช้วิ่งไม่ได้ โจทก์ต้องเสียค่าแท็กซี่จากจังหวัดสมุทรปราการ กลับบ้านในวันเกิดเหตุเป็นเงิน ๒๒ บาท เสียค่าลากจูงรถยนต์โจทก์จากจังหวัดสมุทรปราการมาอู่ซ่อมเป็นเงิน ๒๐๐ บาท รถยนต์โจทก์เสียเวลาซ่อมรวม ๕๐ วัน ระหว่างนั้นโจทก์ต้องเช่ารถยนต์ใช้ในงานธุรกิจ วันละ ๘๐ บาท คิดค่าเสียหายเป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท และรถยนต์โจทก์ถูกชน ต้องเสื่อมราคาไปเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๔๑,๖๙๗ บาทขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกัน ชำระค่าเสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การว่า นายแสด ไม่ได้ขับรถประมาทชนรถโจทก์ดังฟ้อง สาเหตุที่ชนเพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากคันห้ามล้อชำรุดตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดในเรื่องเสื่อมราคาค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าแท็กซี่ ค่าเช่ารถ จะรับผิดก็เพียงค่าเสียหายในการซ่อมรถไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๔๑,๖๙๗ บาท พร้อมกับดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์ได้เสียค่าซ่อมรถไปเป็นเงิน ๑๗,๔๗๕ บาทค่าลากจูงรถมาซ่อม รวมทั้งค่ารถแท็กซี่เป็นเงิน ๒๒๒ บาท และค่ารถแท็กซี่ไปประกอบการงานระหว่างรถเข้าซ่อมเป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท ส่วนค่าเสื่อมราคาของรถที่ศาลชั้นต้นให้ใช้ค่าเสื่อมราคา ๒๐,๐๐๐ บาท สูงเกินไปควรเป็น ๑๐,๐๐๐ บาท นายแสดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขับรถไปในทางการที่จ้างจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น ส่วนจำเลยที่ ๑ผู้รับประกันภัย ตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุข้อยกเว้นว่า บริษัทไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับบุคคลภายนอกในสิทธิเรียกร้องใด ๆ อันเกี่ยวกับการขาดประโยชน์ ขาดการทำมาหาเลี้ยงชีพ ค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าเสื่อมสภาพแห่งทรัพย์สิน ค่าเสื่อมแห่งร่างกายหรือจิตใจ ค่าเสียเวลาเนื่องจากไม่ได้ใช้ยานยนต์หรือไม่ได้ใช้ทรัพย์สินที่เสียหายนั้น ๆ จำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ในค่าเสียหายของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคือค่าซ่อมรถ ๑๗,๔๗๕ บาท ค่ารถแท็กซี่กับค่าลากจูงรถไปซ่อม ๒๒๒ บาทและค่ารถแท็กซี่ที่โจทก์ใช้ติดต่อการค้า ๔,๐๐๐ บาท ส่วนค่าเสื่อมราคาของรถที่ถูกชน ไม่ต้องรับผิด พิพากษาแก้ เป็นว่าให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหาย ๓๑,๖๙๗ บาทให้โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ในค่าเสียหายดังกล่าวเพียง ๒๑,๖๙๗ บาท

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยยืนตามศาลล่างในข้อที่นายแสดขับรถโดยความประมาท และในค่าสินไหมทดแทนประเภทค่าซ่อมรถ ค่าเสื่อมราคาค่าลากจูงรถไปอู่ซ่อมตามที่ศาลกำหนด และศาลฎีกาเห็นว่าค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เสียค่ารถแท็กซี่ไปประกอบการงานในระหว่างรถเข้าซ่อมหาเป็นประเภทเดียวกับค่าเสียเวลาเนื่องจากไม่ได้ใช้ยานยนต์นั้นเองตามที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ไม่ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวส่วนค่าลากจูงรถยนต์โจทก์มาอู่ซ่อมที่จำเลยที่ ๑ ฎีกามาว่าจำเลยผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัย จะชดใช้ให้เพียงครึ่งหนึ่งของราคาที่จ่ายจริงนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ มิได้ยกข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

พิพากษายืน

สรุป

ค่าเสียเวลาเนื่องจากไม่ได้ใช้ยานยนต์ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยระบุยกเว้นความรับผิดของบริษัทประกันภัยสำหรับค่าเสียหายส่วนนี้ไว้ในสัญญาประกันภัยค้ำจุนนั้น เป็นคนละประเภทกับค่ารถแท็กซี่ที่โจทก์บุคคลภายนอกต้องเสียไประหว่างนำรถที่เสียหายเข้าซ่อมบริษัทจึงจะยกกรมธรรม์ข้อนี้ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นความรับผิดสำหรับค่าเสียหายประเภทนี้มิได้

ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งให้บริษัทประกันภัยรับผิดในค่าลากจูงรถยนต์ไปอู่ซ่อมเพียงครึ่งของราคาที่จ่ายนั้นเมื่อบริษัทประกันภัยจำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ย่อมต้องห้ามมิให้ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา