Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ดอกเบี้ยค่าขาดไร้อุปการะมีได้หรือไม่ ศาลกำหนดให้ได้ตั้งแต่วันใด

ดอกเบี้ยค่าขาดไร้อุปการะมีได้หรือไม่ ศาลกำหนดให้ได้ตั้งแต่วันใด

103
0

ดอกเบี้ยค่าขาดไร้อุปการะมีได้หรือไม่ ศาลกำหนดให้ได้ตั้งแต่วันใด

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำเลยที่ 1 ขอให้หมายเรียกนาย ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การขอให้ยกคำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 654,631 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและระยะเวลาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นมารดานางสาวณัฐรัตน์ ผู้ตาย เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งหมด จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยร่วมเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ตาย 14,631 บาท กับเงินอีก 800,000 บาท จากจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ 800,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ที่นำมาวางในคดีอาญา 100,000 บาท และจากบริษัท ว. ผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 300,000 บาท มีการดำเนินการฌาปนกิจศพผู้ตายตามประเพณี ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 หลักสูตร 4 ปี ของคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาสถิติประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและบันทึกการชดใช้ค่าเสียหาย และทำบันทึกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จังหวัดปทุมธานี รับว่า จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจดำเนินการใด ๆ กับบริษัท (จำเลยที่ 2) และผู้เกี่ยวข้องอีกตามบันทึกสำนักงาน คปภ. จังหวัดปทุมธานี ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนของค่าเคลื่อนย้ายศพ ค่าปลงศพ ค่าอาหารเครื่องดื่มเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานศพ เงินถวายพระสวดอภิธรรม และค่าของที่ระลึกแขกที่มาร่วมงาน รวมเป็นเงิน 75,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนของค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างคนต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ สามารถแยกออกจากกันได้ ต่างคนต่างต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาล 14,631 บาท จากจำเลยที่ 1 ได้ด้วย เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างคนต่างขับรถโดยประมาท แต่ความประมาทของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้อันมิอาจแบ่งแยกจากกันได้ จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301 ประกอบมาตรา 291 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยร่วมเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล 14,631 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว จึงเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 โจทก์จึงมิอาจเรียกค่ารักษาพยาบาลจำนวนเดียวกันนี้จากจำเลยที่ 1 ได้อีกเพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกัน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจะต้องชำระค่าใช้จ่ายของญาติผู้ตายที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาช่วยจัดการศพ และค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีกรรมลอยอังคารและทำบุญถวายพระหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายของญาติผู้ตายที่เดินทางมาช่วยจัดการศพเป็นเงิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีกรรมลอยอังคารและทำบุญถวายพระเป็นเงิน 30,000 บาท แม้จะไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ นอกเหนือไปจากค่าปลงศพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ เชื่อว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จริง เมื่อพิจารณาว่างานศพถูกจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน มีแขกและญาติมาร่วมงานจำนวนมาก และมีการประกอบพิธีกรรมลอยอังคารและทำบุญถวายพระ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงินรวม 30,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเพียงใด โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เดือนละ 11,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี ต่ำเกินไป ขอให้กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นอัตราเดือนละ 14,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์มีอายุ 48 ปี ส่วนผู้ตายกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 หลักสูตร 4 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาสถิติประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งนายชนาพันธ์ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาเบิกความว่า ผู้ตายน่าจะสำเร็จการศึกษาภายในกำหนด 4 ปี และมีงานทำ หากทำงานบริษัทเอกชนจะอยู่ฝ่ายวางแผนและวิจัย รายได้เริ่มต้นเดือนละ 18,000 บาท ถึง 20,000 บาท และย่อมได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากประสบการณ์การทำงานที่มากขึ้น หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายย่อมมีโอกาสจบการศึกษาและประกอบอาชีพมีรายได้จากการทำงาน เห็นควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะในอัตราเดือนละ 14,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี เป็นเงิน 2,520,000 บาท เมื่อนำไปรวมกับค่าสินไหมทดแทนรายการอื่นจำนวน 75,000 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แล้ว รวมเป็นจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 2,625,000 บาท แต่โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยร่วมนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 800,000 บาท จากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 800,000 บาท จากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท และจากบริษัท ว. อีก 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท แล้ว คงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องร่วมชำระให้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน 625,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี” และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..” ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 625,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพั