Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ตัวแทนบริษัทยักยอกเบี้ยประกัน บริษัทต้องรับผิดด้วยหรือไม่

ตัวแทนบริษัทยักยอกเบี้ยประกัน บริษัทต้องรับผิดด้วยหรือไม่

214
0

ตัวแทนบริษัทยักยอกเบี้ยประกัน บริษัทต้องรับผิดด้วยหรือไม่

จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปติดต่อกับครอบครัวของโจทก์ทั้งสอง จนครอบครัวโจทก์ทั้งสองทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รวม 9 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 กับสมาชิกในทีมดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวทำใบคำขอเอาประกันชีวิตยื่นต่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ออกใบรับเงินชั่วคราวแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้นำกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 9 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้ มามอบให้แก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัว เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่า สามารถเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ใหม่ ทุนประกันเท่าเดิม แต่จะได้รับความคุ้มครองที่ดีกว่าเดิม ย่อมเป็นเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และถือได้ว่าเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจตัวแทนประกันชีวิตที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว พนักงานอัยการจะฟ้องเป็นคดีอาญา และศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว แต่คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่ความด้วย ทั้งการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทจึงต่างจากคดีอาญา ไม่จำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ทั้งสองให้ลงลายมือชื่อในหนังสือบอกกล่าวเวนคืนกรมธรรม์เพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์และขอรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ และนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติ ก็รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์และออกใบรับเงินชั่วคราวในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อเป็นหลักฐานการรับชำระค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการเปลี่ยนแบบหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ตามที่เสนอขายแก่โจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปและไม่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในฐานะตัวการไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 และ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 70/1 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7แม้ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 71 วรรคสอง ตัวแทนประกันชีวิตไม่อาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัท และมีผลให้การชักชวนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คำเสนอในการทำสัญญาประกันชีวิต แต่การชักชวนให้โจทก์ทั้งสองเปลี่ยนหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่โดยเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเดิม เพื่อนำเงินมาชำระเป็นเบี้ยประกันภัย เป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถือเป็นคำเสนออย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองตกลงจึงเป็นคำสนองและเกิดสัญญาต่างตอบแทนขึ้น โดยโจทก์ทั้งสองเมื่อได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แล้ว ก็ต้องชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเดิมให้แก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยที่ 2 ให้สัญญาไว้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องในกรณีดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยโจทก์ทั้งสองอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์และส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จนครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 ฉบับ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความเมื่อสัญญาต่างตอบแทนมีสภาพบังคับได้และมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการ โจทก์ทั้งสองย่อมมีคำขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามคำขอท้ายฟ้องได้ อย่างไรก็ดีเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ กรมธรรม์ 2 ฉบับแรก จะครบกำหนดความคุ้มครองแล้ว ส่วนกรมธรรม์อีก 2 ฉบับ แม้จะยังไม่ครบกำหนด แต่เมื่อนับถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา กรรมธรรม์อีก 2 ฉบับ ก็จะครบกำหนดความคุ้มครองแล้วเช่นกัน น่าเชื่อว่าการที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ก็เพื่อที่จะเรียกร้องเอาผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากโจทก์ทั้งสองถือกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ไว้จนครบกำหนดแล้วเป็นสำคัญ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากกรมธรรม์ทั้ง 4 ฉบับ ยังคงมีผลใช้บังคับ อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้ว กรณีย่อมไม่จำเป็นต้องบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกต่อไปศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองในคดีนี้เท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากไม่มีการเวนคืนกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนกับคำพิพากษาในคดีอาญาที่ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น หากโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวเพียงใด ก็ให้นำมาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในคดีนี้