Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ประกันวางเงินค่าเสียหายเต็มกรมธรรม์ หลุดพ้นความรับผิดได้หรือไม่

ประกันวางเงินค่าเสียหายเต็มกรมธรรม์ หลุดพ้นความรับผิดได้หรือไม่

176
0

ประกันวางเงินค่าเสียหายเต็มกรมธรรม์ หลุดพ้นความรับผิดได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940/2533

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกน้องของจำเลยที่ ๓ กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ฝ่ายหนึ่ง ขับรถยนต์ชนกันโดยประมาทเป็นเหตุให้กระบะรถคันที่จำเลยที่ ๑ ขับรถฟาดรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันชดใช้เงินให้โจทก์ ๓๐,๖๗๓.๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๒๘,๗๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ความเสียหายของรถยนต์ของโจทก์เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ ฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่ลูกจ้างหรือรับจ้างวานจากจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ ขอยืมรถยนต์ของจำเลยที่ ๓ ไปทำธุรกิจส่วนตัวจำเลยที่ ๓ ไม่ได้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวขณะเกิดเหตุ จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ขณะเกิดเหตุจริง แต่จำเลยที่ ๔ รับผิดต่อความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลภายนอกทั้งหมดต่ออุบัติเหตุครั้งละไม่เกิน๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๔ ต้องรับผิดต่อโจทก์กับโจทก์ในคดีอื่นไม่เกิน๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ร่วมกันชำระค่าเสียหาย๑๖,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิด (๒๐ เมษายน ๒๕๒๗) จนกว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ จะชำระให้โจทก์เสร็จ (ดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่เกิน ๑,๙๗๓.๒๕ บาท) ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓

จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๔ ได้ชำระค่าเสียหายในอุบัติเหตุเดียวกันนี้ แก่โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๗๖๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นเต็มตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จึงหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์คดีนี้ พิพากษาแก้เป็นว่า คดีสำหรับจำเลยที่ ๔ ให้ยกฟ้องเสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อแรกว่า จำเลยที่ ๔ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในคดีนี้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ๘๐-๒๗๒๔ เพชรบุรี ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้เกิดชนกันขึ้นเป็นคดีนี้ จำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ ๔ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในคดีนี้อีกหรือไม่ จำเลยที่ ๔ ได้อ้างสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๗๖๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นเป็นพยานในคดีนี้ และศาลชั้นต้นได้นำมาผูกรวมไว้กับสำนวนคดีนี้แล้ว พิเคราะห์สำนวนคดีดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า มูลคดีของคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นอุบัติ เหตุครั้งเดียว ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นเวลาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้โดยให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ชำระเงินให้โจทก์ที่ ๑ ในคดีดังกล่าวจำนวน ๒๐๓,๖๐๐ บาท แต่ให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาทเท่าที่จำเลยที่ ๑ เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๔ เฉพาะความเสียหายเกี่ยวกับบุคคลภายนอก คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความต่างไม่อุทธรณ์ เห็นว่า ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ ๑กับที่ ๔ ระบุวงเงินค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลภาย นอกไว้ ในข้อ ๒.๓ ว่าไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อหนึ่งครั้ง จึงหมายความว่า จำเลยที่ ๔ จำกัดความรับผิดในค่าเสียหายต่อบุคคลภายนอกไม่ว่าคนเดียวหรือหลายคนในอุบัติเหตุครั้งเดียวกันไว้ไม่เกิน๑๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น และหากจำเลยที่ ๔ ได้ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๗๖๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นเต็มจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จำเลยที่ ๔ ก็ไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในคดีนี้อีก ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๔ มีหน้าที่จะต้องเฉลี่ยเงินที่จะชดใช้ให้โจทก์ และจำเลยที่ ๔ ชำระหนี้ในคดีดังกล่าวโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๔ ได้ชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วนั้น เป็นการชำระหนี้โดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาข้อต่อไปที่ว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๔ ได้อ้างสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๗๖๐/๒๕๒๘ของศาลชั้นต้นพร้อมทั้งสรรพเอกสารเป็นพยานในคดีนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๔ ได้ชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๗๖๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะนำมาพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๔ ไปเลย แต่ควรกำหนดเป็นเงื่อนไขในความรับผิดของจำเลยที่ ๔ เท่านั้น จึงสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑แต่หากจำเลยที่ ๔ ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่๒๓๗๖๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นเต็มวงเงินที่ต้องรับผิดจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว จำเลยที่ ๔ ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้อีก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

สรุป

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้เกิดชนกันขึ้น จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย

ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 4ระบุวงเงินค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้ว่าไม่เกิน 100,000 บาท ต่อหนึ่งครั้ง จึงหมายความว่า จำเลยที่ 4จำกัดความรับผิดในค่าเสียหายต่อบุคคลภายนอกไม่ว่าคนเดียวหรือหลายคนในอุบัติเหตุครั้งเดียวกันไว้ไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้นและหากจำเลยที่ 4 ได้ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในอีกคดีซึ่งได้ฟ้องในอุบัติเหตุครั้งเดียวกันกับคดีนี้เต็มจำนวน 100,000 บาทตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จำเลยที่ 4 ก็ไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในคดีนี้อีก การชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเป็นการชำระหนี้โดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 4 ไม่ต้องเฉลี่ยเงินค่าเสียหายให้โจทก์คดีนี้

จำเลยที่ 4 อ้างสำนวนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นพร้อมทั้งสรรพเอกสารเป็นพยานในคดีนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 4 ได้ชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ในคดีอื่นเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะนำมาพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ไปเลย แต่ควรกำหนดเป็นเงื่อนไขในความรับผิดของจำเลยที่ 4 เท่านั้น.