Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

150
0

ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 124,840 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า นายบุญสาร บิดาโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน บง 6872 อำนาจเจริญ ขณะเกิดเหตุโจทก์ขับรถยนต์ดังกล่าวไปตามถนนสายอำเภอกว้านใหญ่ – อำเภอเมืองมุกดาหาร จากด้านอำเภอกว้านใหญ่มุ่งหน้าไปอำเภอเมืองมุกดาหาร

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นบุตรของนายบุญสาร เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ หมายเลขทะเบียน บง 6872 อำนาจเจริญ และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าว และไม่มีกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในขณะเกิดเหตุจะต้องรับผิดต่อนายบุญสารซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเหตุรถยนต์ชนโคของจำเลย แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ทำละเมิดและโจทก์นำรถยนต์ไปซ่อมและเสียค่าซ่อมรถยนต์แล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้รับความเสียหายในส่วนของค่าซ่อมดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์ สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุนั้น ถึงแม้โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเกิดเหตุแต่โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวมาใช้ประกอบอาชีพทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์ เมื่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้ครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์คันเกิดเหตุได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายจากเหตุละเมิด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางว้น ถนนที่เกิดเหตุเป็นทางตรง หากโจทก์ขับรถด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถึงแม้จะมีโควิ่งตัดหน้า ระยะที่โจทก์จะมองเห็นโคได้คงไม่ใช่เพียง 1 เมตร โจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า หลังจากรถชนโคแล้ว โคกลิ้งไปห่างจากรถประมาณ 10 ถึง 15 เมตร หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที โคตาย โคมีอายุ 3 ปี ขนาดลำตัวไม่เล็กและมีน้ำหนักมากพอสมควร การที่กระเด็นไปไกลจากจุดชนระยะประมาณ 10 เมตร ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการชนอย่างแรง จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะขับรถด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่เบิกความ นอกจากนี้ หากขับรถด้วยความเร็วดังกล่าว และไม่มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่บริเวณข้างทางที่บังสายตา โจทก์ยิ่งต้องมีเวลาพอที่จะมองเห็นโค 4 ตัว ข้ามถนนไปแล้ว และมองเห็นโคอีกตัวกับจำเลยเดินตามมา มิใช่เพิ่งจะเห็นขณะโคอยู่ห่างในระยะเพียง 1 เมตร โจทก์ขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตน ถึงแม้โคจะวิ่งออกมาจากข้างทาง แต่หากโจทก์ไม่ขับรถด้วยความเร็วต้องสามารถหยุดรถได้ทัน หรือหากหยุดไม่ทันลักษณะการชนต้องไม่รุนแรงอย่างผลที่เกิดเหตุเช่นนี้ เชื่อว่าโจทก์ขับรถด้วยความเร็วมากพอสมควร การที่โจทก์ขับรถผ่านถนนที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตชุมชนมีป้ายเตือนให้ลดความเร็ว บริเวณข้างทางมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ต้องมีผู้คนสัญจรผ่านไปมา จึงต้องระมัดระวังลดความเร็วลง พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์รับฟังได้ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ด้วย มิใช่จำเลยประมาทเพียงฝ่ายเดียวตามที่โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยมีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโจทก์ จำเลยไม่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รับฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ละเมิดต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ถึงแม้จำเลยทำบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายไว้ จำเลยก็ไม่ผูกพันต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

แม้โจทก์จะเป็นบุตรของ บ. เจ้าของกรรมสิทธ์รถยนต์และเป็นผู้ถือครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้รับความเสียหายในส่วนของค่าซ่อม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์ สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุนั้น ถึงแม้โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเกิดเหตุแต่โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวมาใช้ประกอบอาชีพทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์ เมื่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้ครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์คันเกิดเหตุได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายจากเหตุละเมิด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้

ขณะโจทก์ขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตนซึ่งเป็นทางตรง มีโควิ่งออกมาจากข้างทาง โจทก์ขับรถชนโคกระเด็นไปไกลประมาณ 10 เมตร ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการชนอย่างแรง จึงเชื่อว่าโจทก์ขับรถด้วยความเร็วมากพอสมควร หากโจทก์ไม่ขับรถด้วยความเร็วต้องสามารถหยุดรถได้ทัน หรือหากหยุดไม่ทันลักษณะการชนต้องไม่รุนแรงอย่างผลที่เกิดเหตุเช่นนี้ การที่โจทก์ขับรถผ่านถนนที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตชุมชนมีป้ายเตือนให้ลดความเร็ว บริเวณข้างทางมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีผู้คนสัญจรผ่านไปมา จึงต้องระมัดระวังลดความเร็วลง พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์รับฟังได้ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ด้วย มิใช่จำเลยประมาทเพียงฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยมีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโจทก์ จำเลยไม่อุทธรณ์ข้อเท็จจริงนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รับฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223