Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยในคดีประกันภัย เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยในคดีประกันภัย เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

123
0

ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยในคดีประกันภัย เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 40,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 40,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561) ต้องไม่เกิน 1,500 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 5 กอ กรุงเทพมหานคร 2061 ไว้จากบริษัท ก. และ/หรือนางสาววรรณศิลป์ ผู้เอาประกันภัย ระยะเวลาเริ่มต้นวันที่ 27 ตุลาคม 2559 เวลา 12 นาฬิกา สิ้นสุดวันที่ 27 ตุลาคม 2561 เวลา 12 นาฬิกา มีข้อตกลงคุ้มครองการสูญหายหรือความเสียหายโดยสิ้นเชิงของรถจักรยานยนต์ 40,500 บาท เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 เวลาประมาณ 19.22 นาฬิกา รถจักรยานยนต์ดังกล่าวสูญหายไปขณะจอดอยู่ที่ใกล้ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า ท. ของจำเลย โดยนางสาววรรณศิลป์ขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปจอดยังที่เกิดเหตุเพื่อใช้บริการจากธนาคาร ก. ซึ่งตั้งอยู่ภายในห้างครั้นวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 บริษัท ก. ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ได้รับเงินจากโจทก์เป็นค่าสินไหมทดแทนรถจักรยานยนต์ 40,500 บาท

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยยกเหตุผลประกอบข้อฎีกาว่า กรมธรรม์ประกันภัยการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เป็นการประกันภัยสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบถ้วน โดยโจทก์นำเอาความสูญหายของรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อมาเป็นเพียงเงื่อนไขในการที่โจทก์จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์เท่านั้น ที่โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ณ วันที่เกิดความสูญหาย ไม่ใช่การประกันภัยตัวรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อ เมื่อรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปมีผลให้สัญญาเช่าซื้อระงับ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือ ดังนั้น ที่นางสาววรรณศิลป์เอาประกันภัยหนี้ค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือย่อมถือว่า ผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 กรมธรรม์ประกันภัยการเช่าซื้อไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ ดังนั้น โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 เห็นว่า คดีได้ความจากนางสาววรรณศิลป์ พยานโจทก์ว่า พยานทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจากบริษัท ก. มีราคาเงินสด 50,700 บาท ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อ ในวันที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์นั้น บริษัท ก. ให้พยานทำสัญญาประกันภัยรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อพยานเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัย เห็นได้ว่า เหตุแห่งการทำสัญญาประกันภัยเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่นางสาววรรณศิลป์เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัท ก. เป็นกรมธรรม์ประกันภัยการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ผู้เอาประกันภัยคือบริษัท ก. ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ และ/หรือนางสาวรรณศิลป์ ในฐานะผู้เอาประกันภัย และ/หรือผู้ได้รับความคุ้มครอง ผู้รับประโยชน์คือบริษัท ก. ซึ่งในข้อ 5 ระบุรายละเอียดสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อ (ผู้ครอบครอง) คือนางสาววรรณศิลป์ ผู้ให้เช่าซื้อ (ผู้ถือกรรมสิทธิ์) คือ บริษัท ก. ราคาเช่าซื้อ 40,500 บาท ข้อ 6 ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (รถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญา) ข้อ 7 ข้อตกลงคุ้มครองการสูญหายหรือความเสียหายโดยสิ้นเชิงของรถจักรยานยนต์ 40,500 บาท ซึ่งตามกรมธรรม์ประภัยแนบท้ายหมวด 2 ข้อตกลงคุ้มครอง และหมวดที่ 4 เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 9 ระบุความว่าหากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยสูญหายจากการลักทรัพย์ โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไม่เกินมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญา ณ วันที่เกิดความสูญหายส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) โจทก์จะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย แสดงให้เห็นว่าภัยที่ผู้เอาประกันภัยยกขึ้นเอาประกันกับโจทก์คือสิทธิและความรับผิดที่เกิดมีขึ้นตามสัญญาเช่าซื้อดังที่ระบุรายละเอียดไว้ และตามข้อตกลงแห่งกรมธรรม์ประกันภัยยังชี้ให้เห็นถึงภัยซึ่งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรับเสี่ยงมีลักษณะเป็นการคุ้มครองสิทธิและความรับผิดที่เกิดมีขึ้นตามสัญญาเช่าซื้อเช่นกันเพราะนำมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญามาเป็นเงื่อนไขแห่งความรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยมีบริษัท ก. ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ แต่ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากจะระบุรายละเอียดสัญญาเช่าซื้อไว้ ยังได้ระบุถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยคือ รถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาไว้ในข้อ 6 โดยมีรายละเอียดของตัวรถจักรยานยนต์และระบุความคุ้มครองถึงการสูญหายหรือความเสียหายโดยสิ้นเชิงของรถจักรยานยนต์ (TOTAL LOSS) จำนวนเงินเอาประกันภัย 40,500 บาท ในข้อ 7 อันเป็นการกำหนดรายการวัตถุที่เอาประกันภัย ถือได้ว่าเป็นการประกันภัยตัวรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้ออีกประการหนึ่งด้วย และเงื่อนไขแห่งความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยรวมถึงภัยที่จะเกิดแก่รถจักรยานยนต์ด้วย หาใช่เพียงสิทธิหรือความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นไม่ บริษัท ก. ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์และนางสาววรรณศิลป์ในฐานะผู้ครอบครองจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา เมื่อรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวถูกโจรกรรมสูญหายไปโดยความประมาทของจำเลย และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้วโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 40,500 บาท นับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 40,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

เหตุแห่งการทำสัญญาประกันภัยเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ ว. เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัท ก. ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยแนบท้าย หมวด 2 ข้อตกลงคุ้มครอง และหมวด 4 เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 9 ระบุว่า หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยสูญหายจากการลักทรัพย์ โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไม่เกินมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญา ณ วันที่เกิดความสูญหาย ส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) โจทก์จะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย แสดงให้เห็นว่าภัยที่ผู้เอาประกันภัยยกขึ้นเอาประกันกับโจทก์คือสิทธิและความรับผิดที่เกิดมีขึ้นตามสัญญาเช่าซื้อ และตามข้อตกลงแห่งกรมธรรม์ยังชี้ให้เห็นถึงภัยซึ่งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรับเสี่ยงมีลักษณะเป็นการคุ้มครองสิทธิและความรับผิดที่เกิดมีขึ้นตามสัญญาเช่าซื้อเช่นกัน เพราะนำมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญามาเป็นเงื่อนไขแห่งความรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยมีบริษัท ก. ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ แต่ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยนอกจากจะระบุรายละเอียดสัญญาเช่าซื้อไว้ยังได้ระบุถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและระบุความคุ้มครองถึงการสูญหายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิงของรถจักรยานยนต์ อันเป็นการกำหนดรายการวัตถุที่เอาประกันภัย ถือได้ว่าเป็นการประกันภัยตัวรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อ อีกประการหนึ่งด้วย และเงื่อนไขแห่งความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยรวมถึง ภัยที่จะเกิดแก่รถจักรยานยนต์ด้วย หาใช่เพียงสิทธิหรือความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นไม่ บริษัท ก. ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์และ ว. ในฐานะผู้ครอบครองจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา เมื่อรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมสูญหายไปโดยความประมาทของจำเลย และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อม เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252