Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ผิดสัญญาด้วยเหตุอย่างอื่นในคดีประกันภัย ศาลฎีกาวางอายุความกี่ปี

ผิดสัญญาด้วยเหตุอย่างอื่นในคดีประกันภัย ศาลฎีกาวางอายุความกี่ปี

374
0

ผิดสัญญาด้วยเหตุอย่างอื่นในคดีประกันภัย ศาลฎีกาวางอายุความกี่ปี

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย จะเห็นได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัย คู่สัญญาอาจกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเหตุวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นที่มิใช่วินาศภัยก็ได้ แล้วแต่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยจะตกลงกัน และคำว่า วินาศภัย นั้น ป.พ.พ. มาตรา 869 บัญญัติให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้น ความเสียหายอันเป็นวินาศภัยย่อมต้องเป็นเหตุหรือภัยใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น มิใช่ความรับผิดตามข้อสัญญาระหว่างคู่กรณีที่มีลักษณะเป็นนิติกรรม เมื่อหนี้ที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดชําระแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงื่อนไขที่จําเลยที่ 2 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ในนามของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจําเลยที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งจําเลยที่ 2 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุอย่างอื่นในอนาคตหากมีการกระทำอันเป็นการผิดสัญญา มิใช่กรณีเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น จึงมิใช่สัญญาประกันวินาศภัยซึ่ง ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยไว้ในลักษณะ 20 หมวด 2 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการเฉพาะตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง คือ ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกําหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย แต่กรณีดังกล่าวเป็นการทำสัญญาประกันภัยในเหตุแห่งการผิดสัญญาอันเป็นเหตุอย่างอื่นในอนาคต ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 นับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสามอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้ตามมาตรา 193/12 การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดียังอยู่ในระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์ทั้งสามสำหรับจําเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจําเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หากจําเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชําระหนี้ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ย่อมต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 ด้วย ถือว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 แม้จําเลยที่ 1 จะเป็นคนชําระเบี้ยประกันภัยก็เป็นการชําระในนามของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ผู้เอาประกันภัย และเป็นเรื่องระหว่างจําเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่มีผลให้การเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องเปลี่ยนแปลงไป สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจําเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาส่วนที่จําเลยที่ 2 ให้การว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามข้อบังคับโจทก์ที่ 1 นั้น จําเลยที่ 2 ไม่ได้ระบุว่าไม่ถูกต้องตามข้อบังคับอย่างไรบ้าง และที่ให้การว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้แจ้งให้จําเลยที่ 2 ทราบถึงการผิดนัดชําระหนี้เงินกู้ของจําเลยที่ 1 ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ผิดนัดงวดแรก ก็ไม่ได้ระบุว่าผลเป็นประการใด ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 จึงไม่เกิดประเด็นให้ต้องวินิจฉัยส่วนปัญหาว่าจําเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เพียงใด นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจําเลยที่ 2 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและโจทก์ที่ 1 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิด ยังไม่เต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย อีกทั้งหลังจากได้รับหนังสือทวงถามแล้ว จําเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ชําระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชําระดอกเบี้ยที่ค้างชําระอยู่เดิมและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่รวมทั้งต้นเงินบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจําเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรับผิดชําระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาประกันภัยในส่วนของจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหลืออยู่ได้ ดังนั้นจําเลยที่ 2 ต้องรับผิดชําระเงินแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เพียงเท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยส่วนที่เหลือโดยเฉลี่ยให้เท่ากัน พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ทวงถามให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าจําเลยที่ 2 ผิดนัด จึงให้จําเลยที่ 2 ชําระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องโจทก์ที่ 1 ฎีกาขอให้จําเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจําเลยที่ 1 จึงเป็นคดีที่มีคําขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาได้ โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท การที่โจทก์ทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 18 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ทั้งสาม