คำพิพากษาฎีกาที่ 8789/2559

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้

ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

สรุป

ผู้เอาประกันมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกำหนดไปชนรถคนอื่นบ.ประกันจะปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไม่ได้

หมายเหตุ

ปัจจุบันมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา เว้นแต่ผู้ขับขี่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว หรือมีใบขับขี่สำหรับรถประเภทอื่น หรือไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรือถูกพักใบอนุญาตขับขี่ ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความใน พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716