Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ฟ้องและนำสืบวันทำละเมิดต่างวันกัน มีผลเรื่องความรับผิดหรือไม่

ฟ้องและนำสืบวันทำละเมิดต่างวันกัน มีผลเรื่องความรับผิดหรือไม่

166
0

ฟ้องและนำสืบวันทำละเมิดต่างวันกัน มีผลเรื่องความรับผิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2523

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดแก่โจทก์ 61,000 บาท กับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ค่าเสียหายเป็น 101,000 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในประเด็นแรกที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทนั้น ปรากฏตามข้อนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ได้เคยให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้วในวันเกิดเหตุนั้นเองว่า ตนประมาทจริง เพราะคิดว่าจะขับรถผ่านโจทก์ซึ่งกำลังเดินข้ามถนนไปได้ จึงได้เร่งความเร็วรถเพื่อจะขับผ่านไป แต่ไม่พ้นจึงได้เกิดชนขึ้น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ข้ามถนนตรงทางม้าลายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะไม่ได้ข้ามถนนตรงทางม้าลาย ก็ใช่ว่าจำเลยจะมีสิทธิขับรถชนคนในท้องถนนที่ไม่ใช่ทางม้าลายได้ จำเลยเป็นผู้ใช้ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จำเลยย่อมมีหน้าที่ระมัดระวังในการขับขี่บนท้องถนนตลอดไปไม่ว่าจะเป็นตรงทางม้าลายหรือไม่ เมื่อจำเลยเห็นเด็กกำลังเดินข้ามถนนอยู่ จำเลยชอบที่จะขับขี่ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษและอาจชะลอความเร็วลงได้ แต่จำเลยกลับเร่งความเร็วเพื่อจะขับผ่านไปให้ได้ แต่ไม่พ้นจึงเกิดชนขึ้น ดังนี้ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเกิดด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง อนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถชนโจทก์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2519 แต่กลับนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ขับรถชนโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2519 ซึ่งผิดจากฟ้องถึง 14 วันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในเรื่องวันทำละเมิดผิดวันไปเช่นนั้นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ในเรื่องวันที่ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายละเมิดต่างหาก ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายละเมิดในการขับรถชนโจทก์ในครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้ยอมรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่าตนเป็นฝ่ายประมาทจริง และจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำสืบปฏิเสธเป็นอย่างอื่นดังนี้ จำเลยที่ 2 จะฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายประมาทย่อมฟังไม่ขึ้น”

 

พิพากษายืน

สรุป

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถชนโจทก์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2519 แต่กลับนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ขับรถชนโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2519 เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ในเรื่องวันที่ทำละเมิด โดยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายละเมิดจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายละเมิดในการขับรถชนโจทก์ครั้งนี้หรือไม่